คำสอน 2 ระดับในพระพุทธศาสนา คำสอนในพระพุทธศาสนา เราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. คำสอนที่เป็นไปเพื่อการปฏิบัติ เช่น มรรคมีองค์ 8 ไตรสิกขา สังคหวัตถุ 4 ทิศ 6 บุญกิริยาวัตถุ 3 อิทธิบาท 4 เป็นต้น 2. คำสอนทางด้านอภิปรัชญา คือ สิ่งที่พ้นเกินกว่าประสบการณ์ของปุถุชนคนธรรมดาจะสัมผัสรู้เห็นได้ โดยตรง เช่น เรื่อง นรกสวรรค์ กฎแห่งกรรม นิพพาน จักรวาล วิทยา โครงสร้างของโลก เป็นต้น เรื่องทางด้านอภิปรัชญาบางเรื่อง เช่น โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่ ตถาคตเมื่อนิพพานแล้วยังดำรงอยู่หรือไม่ เมื่อมีผู้ถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จะไม่ทรงพยากรณ์ คือไม่ตอบ เพราะถ้าผู้ฟังยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมจนมี ภูมิธรรมถึงขีดคั่นแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจตามได้อย่างแท้จริง ถ้าตอบไปแล้วหากเขาไม่เชื่อก็ยิ่งเสียหายไปใหญ่ ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้เพราะบุคคลทั่วไป จะทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยนำไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์เดิมของตน หากเป็นสิ่งที่ตนไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน หลุดไปอีกมิติหนึ่งก็ยากยิ่งนักที่จะทำความเข้าใจได้ เหมือนการ พรรณนาสีสรรความสวยงามของดอกไม้ให้คนตาบอดแต่กำเนิดฟัง เขาย่อมยากจะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อก ล่างถึงนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่าอายตนะนั้นมีอยู่ แต่ทรงอธิบายด้วยการปฏิเสธว่า ไม่ใช่สิ่ง นั้นสิ่งนี้ เพราะนิพพานอยู่เหนือเกินกว่าประสบการณ์ของมนุษย์ปุถุชนจะเข้าใจได้ เพราะเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสอธิบายเรื่องทางอภิปรัชญาไว้อย่างละเอียด เพียงแต่บอก เป็นนัยให้ทราบเท่านั้น ความเห็นความเข้าใจในเรื่องทางอภิปรัชญานี้จึงมีความหลากหลายมาก สรุปยุติลงเป็น อันหนึ่งอันเดียวกันได้ยาก ถ้าใครยืนกรานความเห็นในความเห็นหนึ่งว่าถูกต้องเด็ดขาดและปฏิเสธความเห็นอื่น ทั้งหมดว่าผิด เป็นสัทธรรมปฏิรูป ทำลายพระพุทธศาสนา ต้องขจัดให้หมดไป พระพุทธศาสนาคงจะเต็มไปด้วย การทะเลาะเบาะแว้งและความแตกแยกระส่ำระสาย อย่าว่าแต่เรื่องของนิพพานเลย แม้เพียงแค่เรื่องนรกสวรรค์ ก็มีบางท่านคิดว่าเป็นเรื่องสวรรค์ในอกนรกในใจ คือทำดีก็เย็นใจเหมือนขึ้นสวรรค์ ทำบาปก็ร้อนใจเหมือนตก นรก ไม่เชื่อว่ามีนรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมิสถานที่หนึ่งจริง บางท่านก็เชื่อว่ามีสวรรค์นรกที่เป็นภพภูมิสถานที่ มี วิมานเทวดานางฟ้าบนสวรรค์ มีกะทะทองแดง ไฟนรก สัตว์นรก อยู่ในนรกจริง โดยอ้างถึงพระไตรปิฎกและอรรถ กถาว่า มีกล่าวถึงนรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมินี้มากมายชัดเจน ยิ่งกว่าเรื่องนิพพานเยอะ และถ้าคนกลุ่มนี้ปฏิเสธคน กลุ่มแรกที่ไม่เชื่อว่านรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมิมีจริง หาว่าเพี้ยน นอกลู่นอกทางพระพุทธศาสนา ต้องขจัดให้หมดไป เท่านี้ก็คงเพียงพอที่จะทำให้เกิดการแตกแยกในพระพุทธศาสนา จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ในประเทศไทยไม่ใคร่มีการถกเถียงกัน แต่ในต่างประเทศก็มีการถกกันมาก เช่น เรื่องการอุทิศส่วนกุศล ว่าขัดกับหลักกฎแห่งกรรม ใครทำใครได้หรือไม่ อยู่ๆ จะมายกบุญให้แก่กันได้อย่างไร ก็มีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ถกกันมากมาย และก็หาข้อยุติที่ทุกคนยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้งไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หากมีใครยืนกรานความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ปฏิเสธความเห็นอื่นโดยสิ้นเชิง ล้วนนำมาซึ่ง ความแตกแยกทั้งสิ้น และเป็นโทษต่อพระพุทธศาสนามากกว่าเป็นคุณ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถามว่าเราจะปล่อยให้ใครสอนอย่างไรก็ได้ตามใจชอบหรือ คำตอบ ก็คือ ไม่ใช่ หลัก สำคัญมีอยู่ว่า ตราบใดที่ยังสอนให้ทำความดีตามหลักคำสอนที่เป็นไปเพื่อการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เช่น เจริญมรรคมีองค์ 8 ไตรสิกขา ทิศ 6 บำเพ็ญบุญกิริยา วัตถุ 3 ลด ละ เลิก อบายมุข เป็นต้น แม้ความเห็นในเรื่อง อภิปรัชญาจะอ้างอิงบทคัมภีร์คนละจุด ตีความและมีความเห็นต่างกันบ้าง เราก็ยอมรับซึ่งกันและกัน และร่วม แรงร่วมใจทำงานยกระดับศีลธรรมของผู้คนในสังคมช่วยกันได้ นี่คือ ความเป็นประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา และเป็นท่าทีอันชาญฉลาดของปู่ย่าตายายบรรพบุรุษไทย ที่รักษาพระพุทธศาสนามาให้เราถึงปัจจุบัน ทำให้พระ พุทธศาสนาในประเทศไทยมีความเป็นเอกภาพสามัคคี เป็นปึกแผ่นยิ่งกว่าประเทศใดๆ เป็นสิ่งที่เราชาวไทยควร ภาคภูมิใจ หากเปรียบไปแล้ว เราทุกคนเปรียบเสมือนนักเดินทางไกลในวัฏฏสงสาร แม้ใน ระหว่างเดินทางอาจมี ความเห็นไม่ตรงกันว่า เป้าหมายปลายทางน่าจะเป็นอย่างไร เราก็สามารถเดินบนเส้นทางเดียวกัน ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันได้ และหากเราเดินอยู่บนเส้นทางที่ ถูกต้อง คือหนทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 โดยไม่เลิกละกลางคัน แล้วละก็ ในที่สุดเราก็ย่อมจะบรรลุเป้าหมายปลายทางนั้น และรู้แจ้งกระจ่างชัดด้วยตัวของเราเองว่าปลายทาง เป็นอย่างไร และทุกคนก็จะเข้าใจตรงกัน โดยไม่ต้องทะเลาะกันเลย ถ้าระหว่างเดินทางมามัวถกเถียงกันว่าเป้า หมายปลายทางตามที่ว่าในลายแทงนั้นเป็นอย่างไร แล้วเลยทะเลาะแตกแยก เสียเวลาเดินทาง หรือแยกทางกัน เดิน เป็นสิ่งไม่ให้ประโยชน์ ยิ่งถ้าใครไม่ยอมเดิน หรือเดินถอยหลัง เช่นไม่ยอมรักษาศีล ไม่เจริญสมาธิภาวนา แล้วมาถกเถียงกันเรื่องนิพพานว่าเป็นอย่างไร ก็คงเสียประโยชน์เปล่า ไม่มีวันเข้าถึงนิพพานนั้นได้เลย ขอให้ตั้งสติพิจารณาพุทธพจน์ต่่อไปนี้ให้ดี "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร จะพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญสติ ปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ 8 เปรียบเหมือน แม่ไก่มีไข่อยู่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง ไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกไม่ดีให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ได้ แม่ไก่นั้นแม้จะ พึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอ จิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้น ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือ มั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร พึงกล่าวได้ว่า เพราะเจริญ เพราะเจริญอะไร เพราะเจริญสติปัฏฐาน 4 ฯลฯ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ 8 เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง ไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบ อุ่นเพียงพอ ฟักดี แม้แม่ไก่นั้นจะไม่พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือ จะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถใช้เท้าหรือจะงอยปากเจาะ กะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี ฉะนั้นŽ (อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เล่ม 23 ข้อ 68 หน้า 126-127)