ใจหมดโลภโกรธหลง สว่างโล่งสดใส เมื่อไร ก็ได้เห็นนิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อนั้นทันที อายตนะเป็นเพียงคำหนึ่งในบรรดาคำมากหลายที่ทรงใช้อธิบายความหมายของนิพพาน ไม่ใช่มี นิพพานอย่างหนึ่งที่เรียกว่า " อายตนนิพพาน " คำสำคัญที่มิใช่เพียงใช้อธิบายนิพพาน แต่เป็นไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับนิพพานเลยทีเดียว ก็เช่น วิมุตติ วิสุทธิ สันติ อสังขตะ (ไม่ปรุงแต่ง) อนาทาน (ไม่ยึด) อนาลัย (ไม่ติด) อิสสริยะ (อิสรภาพ) อโสก (ภาวะไร้ โศก) อาโรคยะ (ภาวะไม่มีโรคทางจิตใจ) นิโรธ (ภาวะที่ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น) เขมะ (ความเกษม) ปรมัตถ์ (ประโยชน์ หรือจุดหมายสูงสุด) เป็นต้น และคำที่ใช้เชิงอธิบาย ที่สำคัญ ก็เช่น ตัณหักขยะ (ภาวะสิ้นตัณหา) ภวนิโรธ (ความ ดับภพ) โดยเฉพาะคำที่ใช้พิจารณาตรวจสอบวัดผลการปฏิบัติของตนที่ชัดเจน คือ ราคักขยะ โทสักขยะ โมหัก ขยะ (ภาวะสิ้นราคะ โทสะ โมหะ) ดังพุทธพจน์ตรัสแสดงวิธีตรวจสอบในใจของตนเอง ที่เคยยกมาอ้างแล้วข้าง ต้น (หน้า 72) อย่างน้อยควรจะรู้ตระหนักว่า นิพพานไม่ใช่มีไว้สำหรับไปดูไปเห็นไปชม หรือไปพบกับใครๆ แต่มีไว้ สำหรับทำให้ประจักษ์แจ้งเป็นจริงกับตัวในภาวะหมดกิเลสหมดทุกข์ ถ้าจะไปนิพพาน ก็ไม่ใช่เข้าสมาธิเหาะไป แต่ไปกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติที่จะทำให้โลภะ โทสะ โมหะ ลดน้อยหมดสิ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องตรวจสอบตนเองว่า เมื่อปฏิบัติไปๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลงในใจของเรา ลดน้อยลงหรือไม่ ถ้ากิเลสเหล่านี้ และความขุ่นมัวเศร้าหมองความทุกข์ไม่ลดหายไป ไม่ว่าจะเห็นอะไร ที่ดีเลิศ วิเศษแค่ไหน ก็ไม่ใช่การปฏิบัติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นการห่างออกไปจากนิพพาน เป็นการไถลหลงออกนอก ทาง ถ้าจะพูดว่าเห็นนิพพาน ก็ไม่ใช่เห็นสถานที่หรือแดนวิเศษอัศจรรย์อะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการเห็นความเบา บางจางหายจนหมดไปของโลภะ โทสะ โมหะ ในใจของตนเอง เห็นความบริสุทธิ์หมดจดปราศจากความขุ่นมัว เศร้าหมอง ปลอดพ้นความโศก ความทุกข์และความยึดติดถือมั่นทั้งหลาย โดยสรุป การเห็นนิพพาน มีจุดตรวจสอบที่สำคัญ คือ 1. รับรู้รูปเสียงหรืออารมณ์ใดๆ ก็มีจิตบริสุทธิ์เห็นภาวะที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ในใจของตน ไม่ใช่เห็น บุคคล สถานที่ รูปภาพ หรือองค์อะไรที่ดีวิเศษ 2. เป็นการเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยจิตสมาธิ 3. ถึงภาวะหลุดพ้น โปร่งโล่งเป็นอิสระ ไม่ใช่จมอยู่แค่ความปลาบปลื้มดื่มด่ำติดใจ จะต้องย้ำเตือนกันอย่างยิ่ง ให้มั่นอยู่ในหลักตรวจสอบของพระพุทธเจ้าข้อนี้ คือ การมองในจิตใจของ ตนเองว่า มีโลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลงหรือไม่ อยู่กับความเป็นจริงและปฏิบัติต่อประสบการณ์และสถาน การณ์ต่างๆ ด้วยปัญญาได้ดีขึ้นหรือไม่ หายทุกข์โศก และมีความสุขอย่างเป็นอิสระเบิกบานโดยไม่ต้องอาศัยสิ่ง ปลอบประโลมกล่อมใจหรือพึ่งพาความหวังหรือไม่ ลึกๆ ในใจตรวจดูแล้วมีความมั่นคงสดใสอย่างไม่ต้องพึ่งพา และพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นหรือไม่ ถ้ายัง ก็พึงปฏิบัติในหนทางที่จะให้เป็นอย่างนี้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการที่ จะได้เห็นสิ่งวิเศษใดๆ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนพุทธบริษัทให้ไปตามหาตามดูนิพพานที่ไหน นอกจากนิพพานที่เป็นความสงบ ระงับกิเลส ไถ่ถอนทุกข์โศกภายใน และทำจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์สะอาดเป็นอิสระ อย่าว่าถึงจะไปดูนิพพานเลย แม้แต่สวรรค์ที่ว่ามีความสุขพรั่งพร้อม ก็ไม่ทรงสอนให้วุ่นวายกับการที่จะ ไปดูไปเห็น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเราปฏิบัติ ดำเนินชีวิต พัฒนาตนถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลดีที่เกิดขึ้นเองตาม เหตุปัจจัย