"อายตนนิพพาน" ไม่มีโดยบาลีนิยมก็ชัดเจนเช่นกัน เรื่อง "อายตนนิพพาน" นั้น ถ้าเป็นจริงตามหลักฐานที่อ้างก็ไม่มีปัญหา แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถ้า สังเกตดูจะเห็นว่า ทั้งเอกสารของวัดพระธรรมกาย และพฤติการณ์ต่างๆ มุ่งจะให้ประชาชนเข้าใจไปว่า มีนิพพาน อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า "อายตนนิพพาน" ซึ่งมีลักษณะเป็นสถานที่ หรือเป็นดินแดน ว่าที่จริง ในพุทธพจน์ที่ยกมาอ้างนั้น (และไม่ว่าในที่ไหนๆ รวมทั้งคัมภีร์อื่นๆ ที่รองลงมาจากพระไตร ปิฎก) ไม่มีคำว่า "อายตนนิพพาน" อยู่เลย เพียงแต่ว่า ในพระสูตรที่อ้างนั้น (ปฐมนิพพานสูตร, ขุ.อุ.25/158/206 ) พระพุทธเจ้าทรงนำคำว่า "อายตนะ" มาใช้อธิบายหรือบรรยายลักษณะของภาวะดับทุกข์ที่เรียกว่า "นิพพาน" ว่า นิพพานนั้นเป็นอายตนะที่ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ตามบาลีที่ว่า "อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น วาโย น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺญาณญฺ จายตนํ น อากิญฺจญฺญายตนํ น เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ นายํ โลโก น ปรโลโก น อุโภ จนฺทิมสุริยา ตมหํ ภิกฺข เว เนว อาคตึ วทามิ น คตึ น ฐิตึ น จุตึ น อุปปตฺตึ อปฺปติฏฺฐํ อปฺปวตฺตํ อนารมฺมณเมว ตํ เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส ฯ (ขุ.อุ.25/158/206) แปลว่า: "ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อา กิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีใน อายตนะนั้น ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการ อุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์" คำว่า " อายตนะ " นั้น แปลว่า แหล่ง แดน บ่อเกิด ขุม ที่เกิด ที่ต่อ ที่บรรจบ ที่ชุมนุม ที่อยู่ เหตุ เป็นถ้อย คำสามัญที่ชาวบ้านเขาใช้กัน เช่น สุวัณณายตนะ แปลว่า บ่อทอง อรัญญายตนะ แปลว่า แดนป่า เทวายต นะ แปลว่า ถิ่นเทวดา หรือในข้อความเช่นว่า แคว้นกัมโพชเป็นแหล่งม้า ทักษิณาบถเป็นแหล่งโค เป็นต้น ซึ่งเป็น ความหมายทางรูปธรรม มื่อนำมาใช้ในทางธรรม คำว่า " อายตนะ " ก็จะมีความ หมายเชิงนามธรรม โดยเฉพาะที่คุ้นเคยพบกัน บ่อย ก็คือ แดนรับรู้ หรือที่มาบรรจบกันของอินทรีย์ (เช่น ตา) กับอารมณ์ (เช่น รูป) และวิญญาณ (เช่น จักขุ วิญญาณ) ทำให้เกิดการรับรู้ขึ้น ซึ่งแยกเป็นอายตนะภายใน 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และธรรมารมณ์ หรือสิ่งรับรู้ทางใจ เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกับคำว่า " นิพพาน " เอง ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านใช้กันในความหมายสามัญเชิง รูปธรรม แปลว่าการดับ เช่น " อัคคินิพพาน " คือดับไฟ หายร้อน อย่างสิ่งที่ถูกเผามา เมื่อดับไฟแล้วเย็นลง แต่ เมื่อนำมาใช้ในทางธรรม ก็มีความหมายพิเศษเชิงนามธรรม หมายถึงการดับกิเลส ดับทุกข์ โดยดับเพลิงกิเลส หรือดับไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟทุกข์ ไฟโศก หมดความเร่าร้อน สงบเย็น สำหรับพระสูตรนี้ ท่านอธิบายด้วยความหมายทางธรรม ตรงกับที่เราคุ้นๆ กันอย่างข้างต้น คืออธิบาย โดยเทียบกับความหมายของอายตนะ คือ อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกว่า เหมือนกับที่รูปเป็นแดนรับรู้ คือเป็นอารมณ์ของจักขุุวิญญาณ นิพพานก็เป็นแดนรับรู้ เพราะเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์แก่มรรคญาณ คือ ปัญญาที่ทำให้ทำลายกิเลสได้ และผลญาณ คือปัญญาที่รู้ภาวะหมดสิ้นกิเลสและกองทุกข์เป็นต้น (พึงสังเกตว่า นิพพานไม่มีอารมณ์ แต่นิพพานเป็นอารมณ์ได้) ดังอรรถาธิบายว่า " ตทายตนนฺติ ตํ การณํ, ทกาโร ปทสนฺธิกโร. นิพฺพานํ หิ มคฺคผลญาณาทีนํ อารมฺมณปจฺจยภาวโต รูปา ทีนิ วิย จกฺขุวิญญาณาทีนํ อารมฺมณปจฺจยภูตานีติ การณฏฺเฐน " อายตนนฺติ วุจฺจติ." (อุ.อ.417) แปลว่า: " บทว่า 'ตทายตนํ' ได้แก่ เหตุนั้น, ท อักษรเป็นตัวเชื่อมคำ. จริงอยู่ พระนิพพานตรัสเรียกว่า ' อายตนะ' เพราะอรรถว่าเป็นเหตุ โดยเป็นอารัมมณปัจจัยแก่มรรคญาณและผลญาณเป็นต้น เหมือนรูปารมณ์ เป็นต้น เป็นอารัมมณปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ เป็นต้น " คำอธิบายของท่านให้ความหมายชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการบอกไปด้วยในตัวว่า ไม่ให้แปลความหมาย " อายตนะ " เป็นแดนทางรูปธรรม คือ เป็นสถานที่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนั้น พุทธพจน์ที่ตรัสต่อไปว่า ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ จนถึงว่าไม่ใช่พระจันทร์ พระอาทิตย์ ก็ เป็นการบ่งบอกว่าไม่ให้เข้าใจเอานิพพานเป็นดินแดนหรือสถานที่ใด และอรรถกถาก็อธิบายย้ำเข้าไปอีกว่า ที่ตรัส ตั้งแต่ไม่มีดิน น้ำ เป็นต้น ไปจนถึงไม่มีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ก็เป็นการแสดงว่า ไม่ใช่เป็นภพไหนๆ รวม ทั้งอรูปภพ และยังตรัสต่อไปว่า ไม่มีการไป การมา จุติ อุบัติ ฯลฯ ซึ่งเป็นคำปฏิเสธเรื่องสถานที่ โลก หรือภพ ทุก อย่าง ทั้งนั้น แต่ทั้งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวก พยายามอธิบายปฏิเสธเรื่องดินแดนสถานที่ทั้งหลายทั้งปวงอย่างนี้ ทางสำนักวัดพระธรรมกาย ก็ตีความให้มีสถานที่และดินแดนที่เลยจากนี้ขึ้นไปให้ได้ พระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้รู้ว่า นิพพานเป็นภาวะที่ไม่ใช่ ภพ สถาน ดินแดนใดๆ แต่วัดพระธรรมกายก็จะตี ความให้นิพพานเป็นดินแดนสูงขึ้นไปอีก เอาคำของท่านมาใช้ แต่มาดัดแปลงความหมายเอาตามที่ตนต้องการ ความจริง คำว่า " อายตนะ " ที่ใช้ในคำว่า " ตทายตนะ " อย่างในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงใช้ในที่ อื่นๆ ในการอธิบายเรื่องอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น ใช้อธิบาย วิโมกข์ต่างๆ ซึ่งเป็นภาวะจิตแห่งฌานทั้งหลาย และ พระเถรีธรรมทินนาก็ได้ใช้คำนี้ทำนองนั้น (ม.มู. 12/511/554; ม.อุ. 14/628/404) และที่พระอานนท์ยกพุทธพจน์ มาอธิบายการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอรหัตตผลสมาธิ ที่ในกระบวนการปฏิบัติ ตลอดอรูปฌาน 3 ขั้นต้น ไม่มีการเสวย อายตนะ มีรูปเป็นต้น (องฺ.นวก.23/241/445) และอธิบายเรื่องกายสักขีโดยเรียกอนุปุพพวิหารทั้ง 9 ว่าเป็น อายตนะ (องฺ.นวก.23/247/473)