ธรรมกายเดิมแท้ในพุทธกาล คำว่า " ธรรมกาย " นั้น มีมาในพระไตรปิฎก รวมทั้งหมดที่มาเป็นคำโดดๆ 3 ครั้ง และมาในคำสมาสคือ คำว่า " พหุธมฺมกายา " 1 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง ที่มาเป็นคำโดด 3 ครั้งนั้น มาในรูปเป็น " ธมฺมกาโย " 2 ครั้ง " ธมฺมกายํ " 1 ครั้ง แต่ในทั้งหมด 4 ครั้งนั้น ครั้งที่สำคัญที่สุด คือที่มาในตัวพระสูตรแท้ๆ ซึ่งเป็นข้อความร้อยแก้ว มีครั้ง เดียว นอกนั้นมาในคัมภีร์อปทาน (พระไตรปิฎกเล่ม 32-33) เป็นคำร้อยกรองประเภทเล่าประวัติเชิงสรรเสริญคุณ ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า " ธรรมกาย " ที่มาครั้งแรก และครั้งเดียวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็น พระนามเรียกพระองค์เอง และที่เรียกเป็นพระนามอย่างนี้ ก็เกิดจากการที่ทรงเทียบ ระหว่างหลักการของพระ พุทธศาสนา กับหลักการของศาสนาพราหมณ์ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสกับวาเสฏฐะ และ ภารัทวาชะ วาเสฏฐะ และภารัทวาชะเป็นมาณพ คือเป็นพราหมณ์หนุ่ม ได้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็เลยมาขอบวช ตอนนั้น ยังเป็นสามเณรอยู่ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ วาเสฏฐะ และภารัทวาชะเห็น ก็เลยเข้ามา แล้วก็สนทนา ปราศรัย พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เธอสองคนมาบวชอย่างนี้ แล้วพราหมณ์ทั้งหลายเขาไม่ต่อว่าเอาหรือ วาเสฏฐะ และภารัทวาชะก็กราบทูลว่า เขาด่าอย่างรุนแรง เรียกว่าด่าจนถึงที่สุดเลยทีเดียว พระองค์ก็ ตรัสถามว่า เขาด่าอย่างไรล่ะ ทั้งสองก็กราบทูลว่า พวกพราหมณ์ด่าว่า แกทั้งสองคนนี่ เกิดมาดีแล้วในวรรณะสูง สุด เป็นพราหมณ์ผู้ประเสริฐ เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม พระพรหมเป็นผู้สร้างขึ้น เป็นพรหมนิรมิต เป็นพรหม ทายาท แล้วเรื่องอะไรล่ะ มาสละวรรรณะที่ประเสริฐนี่เสีย แล้วไปบวชเป็นสมณะ เป็นคนชั้นต่ำ เกิดจากพระบาท ของพระพรหม เขาด่าว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็เลยปรารภเรื่องนี้ แล้วก็ตรัสว่า ที่พราหมณ์ว่า เขาเกิดจากพระพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหมนั้น ใครๆ ก็เห็นกันอยู่ พวกพราหมณ์ที่เกิดกันมานั้น ตอนก่อนจะเกิด นางพราหมณี ก็มีท้อง ต่อมาก็คลอด พราหมณ์ก็ออกมาจากครรภ์ของนางพราหมณี ก็เห็นๆ อยู่ แล้วบอกว่าเกิดจากปากพระ พรหม พระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า ที่ว่าในวรรณะ 4 พราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐนั้น ความจริงคนไม่ใช่ ประเสริฐที่กำเนิดหรอก จะเป็นวรรณะไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร ถ้า ประพฤติดี ทำกรรมดี ก็เป็นผู้ประเสริฐ แม้แต่เกิดในวรรณะสูง เป็นพราหมณ์เป็นต้น แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็เป็นคน ต่ำช้าเลวทราม ฉะนั้นการที่จะประเสริฐหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่การกระทำ แล้วอะไรเป็นตัววัดการ กระทำ ก็คือธรรม ธรรมนี่แหละเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์วัด ฉะนั้นไม่ใช่พรหมสูงสุด แต่ธรรมสูงสุด นี่คือข้อสรุป ของพระพุทธเจ้า นี้ก็คือการแยกให้เห็นความแตกต่าง ที่เป็นจุดยืนของพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ ทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์ถือว่า พรหม เป็นเทพยิ่งใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด เป็นผู้สร้างและจัดสรร บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งโลกแห่งวัตถุและสังคมมนุษย์ ส่วนในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าให้ทรงถือ ธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่โดยธรรมชาติ เป็นใหญ่ เป็น มาตรฐาน เป็นเกณฑ์วัดทุกอย่าง ทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์ถือว่า พราหมณ์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นวรรณะสูงสุด เกิดจากโอษฐ์พระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม พระพุทธเจ้าตรัสว่า พราหมณ์หรือคนวรรณะไหนก็ตาม ไม่ได้สูงประเสริฐโดยชาติกำเนิด แต่สูง ประเสริฐด้วยการกระทำความประพฤติของตน ซึ่งจะต้องเอาธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน ธรรมสูงเลิศประเสริฐสุด แม้ แต่พราหมณ์นั้นก็เกิดตามธรรมดา คือ เกิดจากครรภ์ของนางพราหมณีเท่านั้นเอง ความประเสริฐของพราหมณ์นั้ นอยู่ที่ธรรม ถ้าไม่ประพฤติธรรมก็ต่ำทรามเช่นเดียวกัน ไม่ว่าวรรณะไหน เพื่อเทียบกับการที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่าพราหมณ์เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระภิกษุทั้งหลายก็เกิดจากธรรม คือเกิดจากหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม และธรรมนี้ ก็ออกมาจาก พระโอษฐ์ของพระองค์ เหล่าสาวกของพระองค์จึงชื่อว่าเกิดจากโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็น " ธรรมกาย " คือเป็นแหล่งที่รวมไว้และเป็นที่หลั่งไหลออกมาแห่งธรรมนั้น ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่า พราหมณ์เป็นพรหมนิรมิต (ผู้ที่พระพรหมเนรมิตขึ้น) เป็นพรหม ทายาท (ทายาทของพรหม) พระพุทธเจ้าตรัสว่า เหล่าสาวกของพระองค์ เป็นธรรมนิรมิต (ผู้ที่ธรรมสร้างขึ้น) เป็น ธรรมทายาท (ทายาทของธรรม) ขอให้ดูข้อความที่มาของ "ธรรมกาย" ในพระไตรปิฎก ที่เทียบคำของฝ่ายพราหมณ์ กับของพระพุทธเจ้า ดังนี้ " พฺราหฺมณา ภนฺเต เอวมาหํสุ: พฺราหฺมโณ ว เสฏฺโฐ วณฺโณ, หีนา อญฺเญ วณฺณา; พฺราหฺมโณ ว สุกฺโก วณฺโณ, กณฺหา อญฺเญ วณฺณา; พฺราหฺมณา ว สุชฺฌนฺติ, โน อพฺราหฺมณา; พฺราหฺมณา พฺรหฺมุโน ปุ ตฺตา โอรสา มุขโต ชาตา พฺรหฺมชา พฺรหฺมนิมฺมิตา พฺรหฺมทายาทา . . .." " ธมฺโม หิ วาเสฏฺฐา เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ ทิฏฺเฐ เจว อภิสมฺปรายญฺจ . . . ยสฺส โข ปนสฺส วาเสฏ ฐา ตถาคเต สทฺธา นิวิฏฺฐา มูลชาตา ปติฏฐิตา ทฬฺหา อสํหาริยา . . . ตสฺเสตํ กลฺลํ วาจาย ภควโตมฺหิ ปุ ตฺโต โอรโส มุขโต ชาโต ธมฺมโช ธมฺมนิมฺมิโต ธมฺมทายาโทติ. ตํ กิสฺส เหตุ? ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ พฺรหฺมกาโย อิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิ . . ." " วาเสฏฐะ และภารัทวาชะ กราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายกล่าว อย่างนี้ว่า: พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะที่ประเสริฐ วรรณะอื่นต่ำทราม พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ วรรณะอื่นไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เป็นบุตร เป็นโอรสของพระพรหม เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม พราหมณ์เกิดจากพระพรหม เป็นพรหมนิรมิต (ผู้ที่พระพรหมสร้าง) เป็น พรหมทายาท (ทายาทของพระพรหม) . . ." พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า: ดูกรวาเสฏฐะ และภารัทวาชะ . . . ข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวนั้น วิญญูชนทั้งหลายหา ยอมรับไม่ เพราะเหตุว่า ใน บรรดาวรรณะทั้งสี่นั้น ผู้ใดก็ตามเป็นอรหันต์ หมดสิ้นอาสวะแล้ว . . . ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้สูงสุดใน วรรณะทัั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะธรรม หาใช่เพราะอธรรมไม่, ธรรมนี่แหละประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์ ทั้งใน ปัจจุบันและเบื้องหน้า; บุคคลผู้ใด มีศรัทธา ฝังราก หยั่งลง ประดิษฐาน มั่นคงในตถาคต . . . ใครๆ ไม่ อาจพรากไปได้, ควรเรียกบุคคลผู้นั้นว่าเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดแต่โอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ เกิดจากธรรม เป็นธรรมนิรมิต (ผู้ที่ธรรมสร้าง) เป็นธรรมทายาท (ทายาทแห่งธรรม) ข้อนั้นเพราะเหตุ ไร? เพราะคำว่า " ธรรมกาย " ก็ดี " พรหมกาย " ก็ดี " ธรรมภูต " ก็ดี " พรหมภูต " ก็ดี เป็นชื่อของ ตถาคต " (ที.ปา. 11/51/91) "กาย" แปลว่า กอง ที่รวม ที่ชุมนุมหรือประมวลไว้ เมื่อเป็นที่รวมหรือเป็นที่ชุมนุมประมวลไว้แห่งธรรมก็ จึงเรียกว่า " ธรรมกาย " เพราะฉะนั้น คำว่า" ธรรมกาย" ก็คือคำที่กล่าวขึ้นมาเพื่อใช้เรียกพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นแหล่งที่ รวมและเป็นที่หลั่งไหลออกมาแห่งธรรม คือพระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมและทรงคิดพิจารณาจัดลำดับระบบคำ สอนของพระองค์ แล้วก็ตรัสออกมา เพราะฉะนั้นพระองค์ก็เป็นธรรมกาย ดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า ตถาคโต หิ เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ หทเยน จินฺเตตฺวา วาจาย อภินีหริ. เตนสฺส กาโย ธมฺมมยตฺตา ธมฺโมว. อิติ ธมฺโม กาโย อสฺสาติ ธมฺมกาโย. (ที.อ.3/50) แปลว่า: " แท้จริง พระตถาคต ทรงคิดพุทธพจน์ทั้งไตรปิฎก ด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วย พระวาจา ด้วยเหตุนั้น พระกายของพระองค์ ก็เท่ากับเป็นธรรม เพราะแล้ว ด้วยธรรม ธรรมเป็นพระ กายของพระตถาคตโดยนัยดังนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงเป็นธรรมกาย " นี้คือความหมายที่แท้จริงของคำว่าธรรมกาย