เพราะไม่เห็นแก่พระธรรมวินัย จึงต้องหาทางดิ้นรนเพื่อหนีให้พ้นสัจจะ ระยะหลังนี้ ทางวัดพระธรรมกายได้เผยแพร่ข้อเขียนคำกล่าวที่ชื่อว่า " เถรบัญญัติ " ที่ว่าเป็นของสมเด็จ พระสังฆราชพระองค์หนึ่ง " เถรบัญญัติ " นั้น แสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนิพพานเป็นอนัตตา และเห็นว่า นิพพานเป็นอัตตา และได้ทราบว่าหลังจากนั้นก็ยังได้เผยแพร่ทัศนะของพระเถระ และพระมหาเถระรูปอื่นๆ อีก ที่ กล่าวในเชิงว่านิพพานเป็นอัตตา ข้อเขียนคำกล่าวทั้งหมดนี้ ทำให้ได้ข้อพิจารณาสำหรับทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เบื้องแรกที่สุด ข้อเขียน คำกล่าวของพระเถระและพระมหาเถระเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่าทัศนะหรือความคิดเห็นต่างๆ ทัศนะหรือความคิดเห็นเหล่านี้ เป็นข้อพิจารณาที่ช่วยให้เห็นได้ชัดว่าจะนำหลักเกณฑ์ในพระศาสนามา ใช้ปฏิบัติอย่างไร ดังนี้ 1. ทัศนะหรือความคิดเห็น ตลอดจนคำอธิบายบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้แต่ของท่านผู้ที่เรียกว่าเป็นผู้รู้ หรือเป็นปราชญ์ ยังมีอีกมากมาย เมื่อทางวัดพระธรรมกายยกทัศนะที่เห็นว่านิพพานเป็นอัตตามาอ้าง ผู้อื่นก็ อาจจะยกทัศนะของผู้รู้ท่านอื่นที่เห็นว่านิพพานเป็นอนัตตาขึ้นมาอ้าง เช่น ยกข้อเขียนคำกล่าวของสมเด็จพระ สังฆราชพระองค์อื่นขึ้นมาคัดค้านมติขององค์ก่อน แล้วก็จะอ้างกันไปอ้างกันมา ไม่มีที่สิ้นสุด ในการวินิจฉัยว่า อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นวินัยอย่างนี้ ท่านมีหลักเกณฑ์วินิจฉัย ซึ่งเป็นเครื่องรักษา พระศาสนาตลอดมา เป็นเครื่องตัดสิน ดังได้ยกมาแสดงข้างต้นแล้ว (หน้า 32-33) คือมหาปเทส 4 ทั้ง 3 ชุด สำหรับกรณีอย่างนี้ ก็ใช้ชุดที่ 3 อันได้แก่ 1. สุตตะ คือ พระไตรปิฎก 2. สุตตานุโลม คือ มหาปเทส (ยอมรับอรรถกถาด้วย) 3. อาจริยวาท คือ อรรถกถา (พ่วงฎีกา อนุฎีกา) 4. อัตตโนมติ คือ มติ ทัศนะ ความเห็นของท่านผู้รู้ เป็นต้น ข้อ 1. ตัดสิน ข้อ 2 - 3 - 4 ข้อ 2. ตัดสิน ข้อ 3 - 4 ข้อ 3. ตัดสิน ข้อ 4 ทัศนะ ความเห็น คำอธิบายของพระเถระ และพระมหาเถระทั้งหลายเป็นต้น จัดเป็นอัตตโนมติ (ท่านไม่ ยอมรับเป็นอาจริยวาท เพราะอาจริยวาทนั้นจับเอาขั้นเป็นอาจริยวงส์) ในการวินิจฉัยเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เมื่อมี สุตตะ จนถึงอาจริยวาทอยู่แล้ว ก็นำมาตัด สินทีเดียว ไม่ว่าจะมีทัศนะของพระเถระ พระมหาเถระ เป็นต้น กี่ร้อยกี่พันอย่าง ก็จบทีเดียว และไม่มีประโยชน์ที่ จะยกมาอ้างต่อไป มติ ทัศนะ ความเห็น คำอธิบายของพระเถระ พระมหาเถระ ครูอาจารย์นั้น มีไว้สำหรับเป็นเครื่องช่วย หรือเป็นเครื่องร่วมในการศึกษาพระธรรมวินัยแก่เรา แต่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยพระธรรมวินัยไม่ได้ มีแต่ ต้องเอาธรรมวินัยมาวินิจฉัยครูอาจารย์