การใช้ตรรกะที่ผิด เพื่อให้คิดว่านิพพานเป็นอัตตา นอกจากนั้น เอกสารของวัดพระธรรมกาย ยังเขียนไว้ว่า " และนิพพานนี้เป็นสิ่งที่อยู่พ้นจากกฎของไตรลักษณ์แน่นอน เพราะมีพุทธพจน์ยืนยันว่า นิพพาน นั้นเป็นนิจจัง คือเที่ยงแท้ ยั่งยืน และเป็นบรมสุข . . . นิพพานํ ปรมํ สุขํ แปลว่าพระนิพพานเป็นสุขอย่าง ยิ่ง " อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เพราะรับกันอยู่แล้วกับพุทธพจน์แสดงไตรลักษณ์ แต่ควรพูด ให้ครบถ้วนว่า นิพพานพ้นจากไตรลักษณ์ 2 ข้อแรก คือ ข้อที่ 1 สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง, ในเมื่อนิพพานพ้นจากความเป็นสังขาร นิพพานก็ เที่ยง เป็นนิจจัง ข้อนี้ถูก ข้อที่ 2 สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์, นิพพานไม่เป็นสังขาร พ้นจากสังขาร เพราะฉะนั้น นิพพานก็เป็นสุข ข้อนี้ก็มีหลักฐานยืนยันอยู่มากมาย ไม่มีปัญหา แต่หลักฐานที่จะบอกว่า นิพพานเป็นอัตตานั้น ไม่มี มีแต่ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ซึ่งรวมทั้งนิพพานด้วยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ข้อ 3 นี้ ถึงอย่างไรก็เอานิพพานเป็นอัตตาไม่ได้ เอกสารของวัดพระธรรมกาย ยังพยายามใช้วิธีตรรกศาสตร์มาสรุปโดยอ้างพุทธพจน์ว่า " ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ, ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา " ที่แปลว่า " สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา " แล้วก็บอกว่า " จึงน่าคิดว่า ถ้ามองในเชิงกลับกัน ในเมื่อนิพพานเที่ยง และเป็นสุข เราก็จะสรุปได้ ว่า สิ่งใดเที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข สิ่งใดเป็นสุข สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นอัตตา " คำว่า " น่าจะ " นั้นเป็นคำที่ท่านว่าเอาเอง ซึ่งไม่มีทางเป็นจริง ทั้ง 2 ประการ ประการที่ 1 มีบาลีระบุไว้แล้วว่า นิพพานเป็นอนัตตา และไม่มีข้อความใดระบุว่านิพพานเป็นอัตตา ประการที่ 2 การใช้ตรรกะแบบนั้นไม่ถูกต้อง เหมือนกับคำพูดในประโยคที่ว่า " ชีวิตใด เคลื่อนไหวย้ายที่เองได้ ชีวิตนั้นเป็นสัตว์, ชีวิตที่เป็นสัตว์ทั้งปวงต้องตาย" แล้วก็จะมาสรุปเอาว่า " พืชไม่เป็นชีวิตที่เคลื่อนไหวย้ายที่เอง ได้ ก็จึงไม่เป็นสัตว์ เพราะฉะนั้น พืชก็ ไม่ต้องตาย " การสรุปอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เป็นตรรกะที่ผิดพลาดไร้ผล เพราะว่าชีวิตที่เป็นพืชก็ต้องตายเหมือนกัน เฉพาะ ข้อความที่ว่าต้องตายนี้ครอบคลุมหมด ไม่เฉพาะชีวิตที่เคลื่อนไหวย้ายที่เองได้ ที่เป็นสัตว์เท่านั้น เช่นเดียวกับคำ ว่า " ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา " ก็คลุมไม่เฉพาะสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เท่านั้น แต่รวมทั้งสิ่งที่เที่ยงและเป็นสุขด้วย ในที่สุด ที่ว่ามาทั้งหมดก็สอดคล้องกลมกลืนกัน ลงในข้อสรุปแห่งพุทธพจน์ที่ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา = สังขาร (ขันธ์ 5/สังขตธรรม)ทั้งปวง ไม่เที่ยง สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา = สังขาร (ขันธ์ 5/สังขตธรรม)ทั้งปวง เป็นทุกข์ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา = ธรรม (ขันธ์ 5 + อสังขตธรรม)ทั้งปวง เป็นอนัตตา ชีวิต มีความหมายกว้างกว่าสัตว์ คลุมไปถึงพืชด้วย ฉันใด ธรรม ก็มีความหมายกว้างกว่าสังขาร(สังขตธรรม) คลุมไปถึงวิสังขาร (อสังขตธรรม) คือ นิพพานด้วย ฉันนั้น