นิพพานเป็นอนัตตา นิพพาน ไม่ใช่ปัญหาอภิปรัชญา ที่พูดไปแล้วนั้นเป็นเรื่องความสำคัญของพระไตรปิฎก ต่อไปนี้ย้อนกลับไปพูดเรื่องนิพพานไม่ใช่ปัญหา อภิปรัชญา เอกสารของวัดพระธรรมกาย กล่าวไว้ว่า " . . . เรื่องซึ่งอยู่พ้นเกินกว่าประสบการณ์ของปุถุชนคนสามัญจะไปถึงหรือเข้าใจได้ เช่น เรื่องนรก สวรรค์ กฎแห่งกรรม นิพพาน ที่ท่านเรียกว่าเป็นเรื่องอภิปรัชญา หรือเรื่องที่เป็นอจินไตยนั้น หลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องนิพพาน ในทางวิชาการสามารถตีความได้หลายนัย" คำกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะนิพพานไม่ใช่ทั้งเรื่องอจิินไตย และก็ไม่ใช่เรื่องปัญหาอภิปรัชญาด้วย อจิินไตยมี 4 อย่าง ตามพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงว่า "ภิกษุทั้งหลาย อจินไตยมี 4 อันไม่พึงคิด (ไม่ได้หมายความว่าห้ามคิด แต่ถ้าคิด จะคิดไม่ออก คือเป็น สิ่งที่ไม่สำเร็จด้วยการคิด หรือไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการคิด) ซึ่งเมื่อคิด จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า จิตเครียด ไปเปล่า 4 อย่างนั้น คือ 1. พุทธวิสัย 2. ฌานวิสัย 3. กรรมวิบาก หรือวิบากแห่งกรรม และ 4. โลกจินตา ความคิดเกี่ยวกับเรื่องโลก" (องฺ.จตุกฺก. 21/77/104) นิพพานไม่อยู่ในอจินไตย 4 นี้ และก็ไม่ได้เป็นปัญหา metaphysics หรือ อภิปรัชญา ปัญหา metaphysics หรือ อภิปรัชญานั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ คือไม่ทรงตอบ หรือ ไม่ทรงเสียเวลาที่จะพยายามทำให้กระจ่าง แต่นิพพานนั้น ตรงข้ามกับปัญหา metaphysics เลยทีเดียว เรื่องนี้ เป็นอย่างไรจะไม่ต้องบรรยายยาว ขอให้มาดูคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องมีว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นครสาวัตถี ในวัดพระเชตวัน พระภิกษุชื่อ มาลุงกยบุตร ได้เกิด ความคิดขึ้นมาว่า มีแง่ทิฐิที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ คือ เรื่องโลกเที่ยง หรือไม่เที่ยง (โลกในที่นี้คือ จักรภพ หรือ มวลแห่งทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมตัวมนุษย์เราอยู่) โลกหรือจักรภพนี้มีที่สุด หรือไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอัน เดียวกัน หรือชีวะก็อย่างหนึ่งสรีระก็อย่างหนึ่ง ตถาคตหลังจากมรณะแล้วมีอยู่ หรือว่าตถาคตหลังจากมรณะแล้ว ไม่มี หรือว่าตถาคตหลังมรณะมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอ ยู่ก็ไม่ใช่ จึงคิดว่าจะไปกราบทูลพระพุทธเจ้าขอให้ทรงตอบ ถ้า พระพุทธเจ้าตรัสตอบก็จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป แต่ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ตรัสตอบก็จะบอกคืน (ลาสิกขา) เสร็จแล้วก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลความคิดของตนอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ถ้าพระพุทธเจ้าตอบก็จะอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป แต่ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ตอบก็จะบอกคืนสิกขา (คือจะลาสึก) พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า มาลุงกยบุตร เราได้กล่าวหรือเปล่าว่า มาลุงกยบุตร เธอมานี่นะ มา ประพฤติพรหมจรรย์ เราจะตอบเรื่องโลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด เป็นต้นนี้ มาลุงกยบุตรก็กราบทูลว่า พระพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสอย่างนั้น แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสถามต่อไปว่า แล้วเธอเองล่ะได้บอกเราไว้ไหมว่า เธอจะประพฤติ พรหมจรรย์แล้วให้เราตอบเรื่องโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยงนี้ มาลุงกยบุตรก็กราบทูลว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น พระ พุทธเจ้าก็ตรัสว่าแล้วอย่างนี้ใครจะเป็นคนบอกคืนใครล่ะ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า ถ้าใครจะพูดว่า ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ตราบใดที่พระผู้มี พระภาคเจ้าไม่พยากรณ์ (ไม่ตอบ/ไม่ทำให้กระจ่าง) เรื่องโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยงเป็นต้นนี้ ถึงคนนั้นจะตาย พระตถาคตก็ยังไม่ได้ตอบ/ยังไม่ได้ทำให้กระจ่าง แล้วพระองค์ก็ตรัสอุปมาว่า เปรียบเหมือนว่า คนผู้หนึ่งถูกเขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษที่ร้ายแรง เพื่อนๆ ญาติมิตรสหายก็พาหมอผ่า ตัดมา คนที่ถูกลูกศรนั้นก็บอกว่า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ผ่าตัดเอาลูกศรนี้ออก จนกว่าข้าพเจ้าจะรู้ว่าใครเป็นคนยิง ข้าพเจ้า เขาเป็นคนวรรณะกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ หรือศูทร มีชื่อมีแซ่ว่าอย่างไร เป็นคนสูง เป็นคนร่าง เตี้ย หรือสันทัด เป็นคนดำ หรือคนคล้ำ เขาอยู่หมู่บ้าน นิคม นครไหน และธนูที่ใช้ยิงนี้ เป็นแบบไหน ชนิดไหน หัว ลูกศรทำด้วยอะไร สายธนูทำด้วยอะไร ปลายธนูติดขนนกชนิดไหน ดังนี้ เป็นต้น กว่าคนนั้นจะรู้สิ่งที่เขาถามเหล่า นี้ เขาก็ตายเสียก่อนแล้ว เหมือนกับคนที่มาบวชนี้ ถ้าจะรอให้พระพุทธเจ้าตรัสตอบคำถามอภิปรัชญาเหล่านี้ พระองค์ยังไม่ทัน ได้ตอบให้เขารู้กระจ่าง เขาก็ตายไปก่อนแล้ว ไม่ว่าจะมีทิฏฐิว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯลฯ การครองชีวิตประเสริฐก็หาได้เกิดมีขึ้นไม่ ถึงจะมีทิฏฐิ เหล่านี้หรือไม่ ทุกข์ของคนก็ยังมีอยู่นั่นเอง และทุกข์เหล่านี้แหละคือสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์จะแก้ไขให้เสร็จสิ้น ไปในปัจจุบัน ฉะนั้น อะไรที่ไม่ทรงพยากรณ์ก็ให้รู้ว่าไม่ทรงพยากรณ์ และอะไรที่ทรงพยากรณ์ก็ให้รู้ว่าทรง พยากรณ์ เรื่องอย่างที่ว่ามานั้น เป็นปัญหาอภิปรัชญา คือคำถามที่ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด เป็นต้นนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เพราะอะไรจึงไม่ทรงพยากรณ์ ก็ตรัสตอบไว้ว่า "นี่แน่ะมาลุงกยบุตร ถึงจะมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง (คงอยู่ตลอดไป) การครองชีวิตประเสริฐจะได้มีขึ้นก็หาไม่ ถึงจะมีทิฏฐิว่า โลกไม่เที่ยง การครองชีวิตประเสริฐจะได้มีขึ้นก็หาไม่ . . . ถึงจะมีทิฏฐิว่าโลกเที่ยง หรือโลกไม่ เที่ยง ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความผิดหวังคับแค้นใจ) ก็ยังคงมีอยู่ อันเป็น ทุกข์ที่เราบัญญัติให้แก้ไขเสียในปัจจุบันนี้ทีเดียว . . ." " อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์? ทิฏฐิว่าโลกเที่ยง . . . โลกไม่เที่ยง . . . โลกมีที่สุด . . . โลกไม่มีที่สุด . . . ฯลฯ . . . เราไม่พยากรณ์ . . . เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งชีวิตประเสริฐ ไม่เป็นไปเพื่อ นิพพิทา วิราคะ นิโรธ สันติ อภิญญา ความตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน" "อะไรเล่าที่เราพยากรณ์? เราพยากรณ์(ตอบ/ทำให้กระจ่าง)ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) นี้ ทุกขนิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์) . . . เพราะประกอบ ด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งชีวิตประเสริฐ เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธ สันติ อภิญญา ความตรัสรู้ นิพพาน" (ม.ม.13/151-2/150-2) จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนหรือทรงพยากรณ์ เรื่องที่จะทำให้ดับทุกข์ได้ คือนิพพานนี้ และนิพพาน ก็อยู่ในข้อทุกขนิโรธ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรัสโดยตรง และเป็นเรื่องตรงข้ามกับอภิปรัชญา เพราะฉะนั้น นิพพานสำหรับชาวพุทธ ไม่ใช่เรื่องอภิปรัชญา แต่นักปรัชญาอาจจะเอาเรื่องนิพพานนี้ไป ถกเถียงในแง่ของปรัชญาของเขาก็ได้ ส่วนใครจะไปร่วมวงถกเถียงเรื่องนิพพานในแง่อภิปรัชญา กับนักปรัชญาก็ แล้วแต่ แต่ถ้ามัวถกเถียงอยู่ก็ไม่ได้ปฏิบัติ และก็ไม่บรรลุนิพพาน นิพพานเป็นเรื่องของความไร้ทุกข์ ภาวะที่ปราศจากปัญหา หรือภาวะที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ภาวะ แห่งความสงบ สันติ อิสรภาพ เป็นความบริสุทธิ์ เป็นความสะอาด สว่าง สงบ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็น จริงของสังขาร หรือโลกและชีวิต ที่เป็นอยู่เฉพาะหน้าตลอดเวลานี้