หุบผาสวรรค์-สันติอโศก
บทสรุป..วัดธรรมกาย??
กลายเป็นปริศนาธรรมไปในทันทีต่อคำสอนที่เกิดขึ้นในวัดธรรมกาย โดยเฉพาะการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนา
อันแตกต่างไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านตรัสไว้ว่า มาตรฐานวัดความยิ่งใหญ่ของศาสนาคือ ยิ่งใหญ่ ด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้รู้ธรรมกระทั่งเป็นพหูสูต ยิ่งใหญ่ ด้วยพุทธบริษัท ปฏิบัติตามคำสอนจนบรรลุผลแห่งการปฏิบัติ ยิ่งใหญ่ ด้วยการเผยแผ่ หรือมีความสามารถในการถ่ายทอดพระพุทธศาสนา และ ยิ่งใหญ่ ด้วยการปกป้องพระพุทธศาสนายามมีภัย
เป็นการกำหนดความยิ่งใหญ่ด้วยนามธรรม
ไม่ใช่ด้วยวัตถุ ทำวัดให้เป็นวัด เป็นอารามที่แท้จริง
อดีตที่ผ่านมาพุทธศาสนาต้องผจญกับมารมาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าพุทธศาสนาถูกกระทบรบกวนด้วยลัทธิอุบาทว์มาโดยตลอด
หากนับถอยหลังไปเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในราว พ.ศ. 2518 ได้มีการกำหนดองค์กรทางศาสนาขึ้นมาองค์กรหนึ่ง ชื่อว่า สมาคมศาสนสัมพันธ์ หรือ ส.ศ.ส. (International Federation Of Religions) ภายใต้การนำของ "สุชาติ โกศลกิติวงศ์" ซึ่งประกาศตั้ง สำนักหุบผาสวรรค์ มาตั้งแต่เมื่อปี 2508 การดำเนินการของสำนักหุบผาสวรรค์นั้นแม้มิได้เข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่ก็พยายามเผยแผ่คำสอนทางพุทธศาสนา ตามความเชื่อของตนเองมาตลอด ท้ายที่สุดสำนักแห่งนี้ ก็ต้องถูกปิดลงไป ด้วยข้อหากระเทือนความมั่นคงของชาติ เช่นเดียวกับสมาคมศาสนสัมพันธ์ ที่ถูกยกเลิกการก่อตั้ง พร้อมกับสมญานามที่ว่า ผีบุญ
"สุชาติ" เป็นคนมีสัญชาติไทยแต่เชื้อชาติจีน พ่อของเขาเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับประธานาธิบดีเจียง ไค เช็ค ของไต้หวัน จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาก้าวเข้ามาสู่วงการศาสนา ก็มีผลมาจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หนังสือหลายเล่มที่เขียนถึงประวัติเขาระบุว่า เมื่อตอนอายุ 17 ปี เขาได้รับเหรียญ หลวงปู่ทวด ชื่อรุ่นว่า เหยียบน้ำทะเลจืด อันเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เพียงใด เล่ากันว่า ด้วยความอยากลองจึงไปหามนต์ปลุกพระมาทดลอง ปรากฏว่าหลวงปู่ทวดได้ผ่านร่างเขาแล้วพูดว่า อยากลองดีจะเอาเป็นร่างทรง จากนั้นเขาอ้างว่า สามารถรักษาคนไข้ที่แพทย์รักษาไม่ได้ให้หายป่วย นอกจากนี้ เขายังอ้างเป็นร่างทรงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรังสี) และท้าวมหาพรหมอีกด้วย
ในห้วงที่ผ่านมานั้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนามักจะมีหลากรูปแบบ หลายครั้งมารศาสนาแอบแฝงเอาความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของประชาชนเป็นเครื่องมือหากินจนร่ำรวย แต่มักไปไม่รอด กรรมตามสนองทุกครั้ง
อย่างไรก็ดี วัดที่เรียกคนเข้าหาได้มากที่สุดน่าจะเป็น
สวนโมกข์ ของท่านพุทธทาสภิกขุ
สันติอโศก ของพระโพธิรักษ์
และวัดพระธรรมกาย ของหลวงพ่อธัมมชโย หากจะวิเคราะห์แนวทางการปฏิบัติธรรมและการเผยแผ่คำสอนทางพุทธศาสนาแล้ว อาจแยกแยะให้เห็นได้โดยง่าย ทั้ง 3 สำนักนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยสันติอโศกถูกดำเนินคดีไปแล้ว โดยพระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2505 เล่นงานจนถึงขั้นถูกดำเนินคดีไปแล้ว พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ผู้อำนวยการกองปฏิบัติศาสนกิจในประเทศ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย ได้อธิบายแนวทางการเผยแผ่ธรรมะของ 3 สำนักนี้ไว้ว่า
สวนโมกข์ เป็นองค์กรที่ยึดแนวทางของการปฏิบัติที่เชื่อในเรื่องของหลักตรรกวิทยาเป็นเหตุเป็นผล จะเน้นไปทางธรรมะเป็นหลักในการสอนพุทธศาสนิกชนโดยใช้ธรรมชาติเป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรม ซึ่งคล้ายคลึงกับสมัยพุทธกาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้สอนศาสนา เพื่อมุ่งให้เกิดปัญญา เรื่องของศีล ความสงบ สมถะ มัธยัสถ์ และสันโดษ
ถึงวันนี้มีเพียงวัดป่าสวนโมกข์ยังคงเผยแผ่ศาสนาโดยยึดธรรมะเป็นหลักอย่างมั่นคง ตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้สอนสั่งไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
สันติอโศก นั้น หลุดโลกธรรม ปฏิเสธพิธีกรรมอย่างสิ้นเชิง มีแนวทางการปฏิบัติที่แหวกแนวออกไปจากรูปแบบเก่า เป็นแนวทางที่เปิดโอกาสให้คนที่ต้องการแสวงหาคำตอบได้เข้ามาสัมผัสตามแนวที่สันติอโศกบัญญัติ
วัดพระธรรมกาย นั้น แนวทางการปฏิบัติเน้นในเรื่องของพิธีกรรม และการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้เงินจำนวนมากเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าการใช้เงินทำบุญมากจะได้บุญมากตามไปด้วย จนกลายเป็นพุทธพาณิชย์เสียแล้ว การชักชวนให้ประชาชนทุ่มหมดตัว เพื่อสร้างพระธรรมกายประจำตัวถึงล้านองค์ ในราคาองค์ละ 10,000 บาท เป็นเงินสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท จึงมิใช่เรื่องปกติธรรมดาอย่างแน่นอน
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า พระสงฆ์ที่ อยู่ในพุทธศาสนาทุกวันนี้เข้ามาทำหน้าที่อะไรกัน เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราช บัณฑิตประเภทปรัชญาสาขาศาสนศาสตร์ แสดงความเห็นไว้ว่า การเป็นพระไม่จำเป็นต้องสร้างความยิ่งใหญ่ ต้องอยู่อย่างง่ายตามโอวาทปาติโมกข์ อยู่ในที่สงัด กินน้อยใช้น้อย รู้จักการประมาณการบริโภคให้อยู่ในศีล หน้าที่ของพระก็คือเป็นผู้นำทางสติปัญญา เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สอนให้ประชาชนยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
ด้านวัตถุหรือที่เรียกว่า เสนาสนะ นั้นเป็นหน้าที่หลักของฆราวาส
เมื่อพระสงฆ์นำพาตนเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างวัตถุ พระก็ต้องคิดถึงวิธีหาเงิน ความคิดในเชิงการค้าก็เกิดขึ้น หรือที่เรียกกันว่า พุทธพาณิชย์ นั่นแหละ คิดเอาศาสนาเป็นเครื่องมือหาเงิน เกิดกิจการขายบุญด้วยการสร้างโปรเจกแปลก ๆ ใหม่ ๆ แนวทางนี้บางองค์ก็ประสบความสำเร็จ บางองค์ก็ล้มเหลว ตรงกันข้าม ถ้าพระสงฆ์คิดเพียงว่า ความยิ่งใหญ่ในด้านนามธรรมนั้นมีมากกว่าความยิ่งใหญ่ด้านวัตถุ พระศาสนาจะเจริญ
ศาสนาพุทธนั้นโดยสาระสำคัญแล้วเป็น อนัตตา คือความไม่มีตัวตนที่แท้จริง คนควรเดินไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัว แต่ปัจจุบันพระสนับสนุนคนรวย สอนว่าเมื่อทำบุญมากก็จะได้รวยมากขึ้น นำศาสนาไปติดยึดกับระบบทุนนิยม บริโภคนิยม นั่นคือพุทธศาสนาในปัจจุบัน
ระวี ภาวิไล บอกว่า การทำบุญเป็นตัวเงินหมายความว่า เงินนั้นคือทรัพย์สมบัติของเรา ซึ่งเก็บไว้แลกเปลี่ยนสินค้าและเปลี่ยนเครื่องช่วยชีวิต คนที่จะทำบุญอันใดอันหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับความสามารถที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นในคำสอนของพระพุทธองค์ที่เรายอมรับกันในศาสนาก็คือ เราถือเอาจิตใจที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นในการให้ทาน ไม่ใช่ว่าทำไปเพื่อจะได้ผลย้อนกลับมา
กุศโลบายที่จะให้คนเข้าถึงศาสนานั้น แม้จะมีหลากวิธี แต่วิธีไหนก็ตามหากทำให้คนลุ่มหลงงมงาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์เครื่องรางของขลัง หรือยึดถือวัตถุสิ่งก่อสร้างเป็นสรณะว่าเป็นหนทางแห่งความหลุดพ้นสังสารวัฏแล้ว
ย่อมไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องของ พระพุทธศาสนาเป็นแน่แท้.


LE FastCounter