นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เรื่องอัตตาและอนัตตานี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากตั้งแต่ยุคโบราณหลังพุทธกาลเป็นต้นมา และมีมาตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แม้ในยุคปัจจุบัน ก็มีนักวิชาการพระพุทธศาสนาทั้งในดินแดน ตะวันตก เช่น ยุโรป อเมริกา และทางตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ถกเถียงกันมาก ประเด็นที่ถกเถียงกันก็มี หลากหลาย เช่น 1. อัตตา ตัวตนที่แท้จริง มีหรือไม่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา มีทั้งผู้ที่คิดว่า มี อัตตาตัวตนที่แท้จริง อยู่ และมีทั้งผู้ที่คิดว่าไม่มี และดูเหมือนว่าผู้ที่มีความเห็นว่ามีอัตตานั้นจะมีจำนวนมากกว่า ปราชญ์ใหญ่ทาง พระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตกที่มีชื่อเสียงก้องโลกจำนวนมาก ก็มีความเห็นว่ามีอัตตาที่แท้จริงอยู่ในคำ สอนทางพระพุทธศาสนา เช่น Mrs. Rhys Davids นายกสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2465-2485 [Steven Collins, Selfless Person; Imagery and thought in Theravada Buddhism, (Cambridge; University Press, 1997), p.7], Miss I.B.Horner นายกสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2502-2524 [Peter Harvey, The selfless Mind, (Curzon Press, 1995), p.17.] ทั้ง 2 ท่านนี้ล้วนเป็นผู้อุทิศตนเพื่องานพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธ ศาสนาที่หาตัวจับยาก มีบทบาทสำคัญในการตรวจชำระจัดสร้างพระไตรปิฎกและอรรถกถาบาลีฉบับอักษร โรมัน ของสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ (Pali Text Society) ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกบาลีฉบับสากล เป็นที่ อ้างอิงของนักวิชาการพระพุทธศาสนาทั่วโลกในปัจจุบัน Christmas Humphrey [Christmas Humphreys, Buddhism, (Penguin Books, 1949, p.88.], Edward Conze [Edward Conze, Buddhist Thought in lndia, (George Allen and Unwin, 1962), p.39.] และอีกหลายๆ ท่าน ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีผลงานมากมายเป็นที่รู้จักกันทั้งโลกเหล่านี้ มี ความเห็นที่ตรงกันในเรื่องอัตตานี้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ก) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า อัตตาที่แท้จริงไม่มี และไม่เคยตรัสปฏิเสธว่าไม่มี อัตตาใดๆ ทั้งสิ้นในสัจจะทุกระดับ ข) เขาเหล่านี้เชื่อตรงกันว่า ในคำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิม บ่งบอกนัยว่า มีอัตตาที่แท้จริงซึ่ง อยู่ในภาวะที่สูงกว่าขันธ์ 5 หรือสังขตธรรม เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ตรัสตรงๆ ว่า มีอัตตาที่แท้จริงอยู่ เพราะผู้ที่ยัง ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอัตตาแบบเดียวกับที่ศาสนาพราหมณ์สอน มีการอ้างอิงหลักฐานในคัมภีร์ทั้งบาลี สันสกฤต จีน ธิเบต ในและภาษาอื่นๆ มากมาย อันนำมาสู่ข้อ สรุปความเห็นนี้ แต่ก็มีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย ยืนยันว่า ไม่มีอัตตาในพระพุทธศาสนา เช่นกัน ต่างฝ่ายต่างก็มี เหตุผลของตน 2. ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า "อัตตา" และ "อนัตตา" คืออะไร นักวิชาการบางส่วน เมื่อพบศัพท์ ธรรมะคำหนึ่ง ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่ามีความหมายเดียวกันโดยตลอดทำให้ตีความเข้าใจพระไตรปิฎกคลาด เคลื่อนมาก เพราะในการแสดงธรรมแต่ละครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสสอนให้ตรงกับจริตอัธยาศัยและภูมิ ธรรมของบุคคลผู้ฟัง ความหมายของศัพท์ธรรมในแต่ละแห่งที่พบในพระไตรปิฎก จึงมีนัยที่ลึกซึ้งต่างกัน เหมือน ดังที่พระเถระในอดีตกล่าวไว้ว่า "บาลีมีนัยเป็นร้อย" ในกรณีของศัพท์ว่า "อัตตา" และ "อนัตตา" นี้ ก็เช่นกัน คำว่า "อัตตา" บางท่านก็ตีความว่าเป็นตัวตน แบบที่ศาสนาพราหมณ์เขาสอนกันว่า มี อาตมัน อยู่ภายในคนแต่ละคนซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วต้องไปรวมกับ ปรมาตมัน หรือ อาตมันใหญ่ ก็เลยเกรงว่า ถ้าพุทธยอมรับว่ามีอัตตา จะกลายเป็นยอมรับศาสนาพราหมณ์ไป ซึ่ง จริงๆ เป็นคนละเรื่อง อัตตามีนัยมากมาย ทั้งอัตตาโดยสมมุติ เช่น ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ของของเรา ครอบครัว ของเรา เป็นต้น และอัตตาในระดับที่สูงขึ้น เช่น ความรู้สึกในเรื่องอัตตาของเทวดา ของพรหม ก็ย่อมต่างกัน หรือ อัตตาในระดับที่สูงกว่านั้น เป็นอัตตาที่แท้จริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชนทั้งหลายยึดเป็นเกาะ เป็นที่ พึ่ง ในพุทธพจน์ที่ว่า "อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญญสรณา" แปลว่า "เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ จงมีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ จงมี ธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง" (ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 10 ข้อ 93 หน้า 119) อัตตาในที่นี้ ก็ย่อมมีความหมายที่แตกต่างจากอัตตาในระดับสมมุติ และอัตตาของศาสนาพราหมณ์ ในการศึกษาพระไตรปิฎก จึงต้องวินิจฉัยแยกแยะทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของศัพท์ธรรมะที่พบในแต่ ละที่ให้ดี ความหมายของคำว่า "อนัตตา" ก็เช่นกัน มีทั้งผู้ที่มีความเห็นว่า อนัตตา แปลว่า ไม่มีอัตตา และมีทั้งผู้ ที่มีความเห็นว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา เหมือนคำว่า อมนุษย์ แปลว่าไม่ใช่มนุษย์ ไม่ได้หมายความว่า ไม่มี มนุษย์ เป็นมุมมองที่ต่างกันในการพิจารณารูปคำสมาส และเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ ตัวตน ก็มีนัยให้รู้ว่า มีตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอยู่สูงกว่าขันธ์ 5 อยู่ ทรงสอนให้ยึดอัตตานั้นเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ และจะ เข้าถึงอัตตาที่แท้จริงนั้นได้ด้วยการปฏิบัติ สติปัฏฐาน 4 คือการตามเห็นกายในกาย การตามเห็นเวทนาในเวทนา การตามเห็นจิตในจิต และการตามเห็นธรรมในธรรม ประเด็นนี้ก็มีการถกเถียงกันมากมาย 3. คำว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นคำที่มีการอ้างอิงกันมากนี้ คำว่า สพฺเพ ธมฺมา คือ ธรรมทั้งปวง กินความกว้างเพียงใด เพราะมีทั้งคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่บอกว่า ธรรมทั้งปวงในที่นี้รวมเอา พระนิพพานด้วย (อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิเทส ฉบับมหาจุฬาราชวิทยาลัย หน้า 8.; อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิเทส ฉบับมหาจุฬาราชวิทยาลัย หน้า 219) และมีทั้งคัมภีร์อรรถกถาที่บอกว่า ธรรมทั้งปวงที่ว่าเป็นอนัตตานั้นหมายเอาเฉพาะขันธ์ 5 ไม่ได้ครอบ คลุมถึงพระนิพพาน (อรรถกถาธรรมบท ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ภาค 7 หน้า 62) และนิพพานนี้ เป็นสิ่งอยู่พ้นจากกฎของไตรลักษณ์แน่นอน เพราะมีพุทธพจน์ยืน ยันว่า นิพพานนั้น เป็นนิจจัง คือ เที่ยงแท้ ยั่งยืนและเป็นบรมสุข ยสฺส อุปฺปาโท ปญฺญายติ วโย นตฺถิ ตสฺส ยญฺญทตฺถุ ปญฺญายติ นิพฺพานํ นิจฺจํ ธุวํ สสฺสตํ อวิปริณามธ มฺมนฺติ อสํหิรํ อสํกุปปํฯ แปลว่า ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดย แท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ (ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม 30 ข้อ 659 หน้า 315) นิพพานํ ปรมํ สุขํฯ แปลว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง (ขุททกนิกาย ธรรมบท เล่ม 25 ข้อ 25 หน้า 42) และมีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา... แปลว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา (สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม 17 ข้อ 91 หน้า 56) จึงน่าคิดว่า ถ้ามองในเชิงกลับกัน ในเมื่อนิพพานเที่ยง และเป็นสุข เราก็จะสรุปได้ว่า สิ่งใดเที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข สิ่ง ใดเป็นสุข สิ่งนั้นก็น่าจะเป็น...อัตตา สังขตธรรม เช่น ขันธ์ 5 อสังขตธรรม เช่น นิพพาน (อยู่ในกฎไตรลักษณ์) (อยู่พ้นกฎไตรลักษณ์) ไม่เที่ยง เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นอนัตตา อัตตา...? ในการถกเถียงกันนั้น มีการอ้างอิงหลักฐานคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกในภาษาต่างๆ กันมากมาย และมี การวิเคราะห์วิจัยถึงความสอดคล้องโดยองค์รวมกับคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมด มีการวิเคราะห์ถึง ปัญหาที่ติดตามมากับข้อสรุปในแต่ละด้าน เช่น ถ้าไม่มีอัตตาที่แท้จริงอยู่เลย แล้วจะอธิบายในเรื่องกฎแห่งกรรม ได้อย่างไรว่า ผลบุญ ผลบาปที่กระทำไว้ จะส่งผลไปในภพชาติต่อไปได้อย่างไร อะไรเป็นตัวนำไป ก็มีผู้ตั้งทฤษฎี ให้ความเห็นกันมากมาย แต่ก็ไม่มีความเห็นใดได้รับการยอมรับทั้งหมด ล้วนมีผู้ถกเถียงหักล้างกันไปมาทั้งสิ้น การจะสรุปว่า ความเห็นใดในเรื่องอภิปรัชญานี้เป็นความเห็นที่ถูกต้องจริงแท้แน่นอนของพระพุทธ ศาสนา โดยปฏิเสธความเห็นอื่นอย่างสิ้นเชิง ว่าเป็นความเห็นนอกพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องใหญ่มาก จะต้อง ศึกษาแหล่งอ้างอิงทางพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมทุกแหล่งเท่าที่มีอยู่ ไม่เฉพาะคัมภีร์บาลีเท่านั้น และต้องศึกษา การถกเถียงเรื่องนี้ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สองพันกว่าปีก่อน ซึ่งมีการเขียนเป็นคัมภีร์ในภาษาต่างๆ มากมายว่า แต่ละฝ่ายมีเหตุผลใด รวมทั้งต้องศึกษาผลงานวิจัยในเรื่องนี้ของปราชญ์ทั้งหลายในยุคปัจจุบันในประเทศต่างๆ ต้องสามารถหักล้างเหตุผลของความเห็นที่แย้งกับความเห็นตนลงให้ได้ทั้งหมด จนเป็นที่ยอมรับ ไม่มีหลักฐาน เหตุผลแย้งที่เป็นอรรถเป็นธรรมใดๆ เหลืออยู่เลย จึงจะสรุปได้และเป็นที่ยอมรับ มิฉะนั้นข้อสรุปของตนก็จะเป็น เพียงความเห็นอันหนึ่งในเรื่องนั้นๆ เท่านั้น จะถือเป็นข้อสรุปว่าพระพุทธศาสนาต้องสอนอย่างนี้เท่านั้นไม่ได้ จากการศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สิ่งที่อาจสรุปได้ประการหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถอาศัย หลักฐานทางคัมภีร์เท่าที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน มาสรุปยืนยันความถูกต้องของความเห็นในเรื่องนิพพานว่าเป็น อัตตาหรืออนัตตา โดยไม่มีประเด็นให้ผู้อื่นโต้แย้งคัดค้านได้ หากประเด็นเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานี้ เป็นที่สนใจของชาวพุทธไทยมาก ก็น่าสนใจว่า เรา น่าจะลองจัดสัมมนาทางวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติ เชิญปราชญ์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา ยุคดั้งเดิมจากทั่วโลกมาแสดงความเห็น วิเคราะห์วิจัยเรื่องนี้กันเป็นการใหญ่ในประเทศไทยดูสักครั้ง