เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ 1 พระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ ประเทศอังกฤษ เป็นฉบับสากล? สมาคมบาลีปกรณ์พิมพ์พระไตรปิฎกอักษรโรมันได้ ก็เพราะมีพระไตรปิฎกของ พวกเราให้เขาคัดลอก เอกสารของวัดพระธรรมกายได้อ้างว่า "แม้ในยุคปัจจุบันก็มีนักวิชาการพระพุทธศาสนาทั้งในดินแดนตะวันตก เช่น ยุโรป อเมริกา และทาง ตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ถกเถียงกันมาก (เกี่ยวกับเรื่องอัตตา) . . ." เรื่องนี้ได้ตอบไปแล้วเป็นส่วนมาก แต่ยังมีแง่ที่ควรพูดไว้เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งไม่สู้มี ความสำคัญนัก คือเรื่องของนักวิชาการตะวันตกว่ามีทัศนะอย่างไร แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องทัศนะของนักวิชาการตะวันตกโดยตรง ก็อยากจะพูดถึงพระไตรปิฎกบาลีอักษร โรมัน ของสมาคมบาลีปกรณ์ประเทศอังกฤษ ที่เอกสารของวัดพระธรรมกายอ้างว่า " . . . พระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับอักษรโรมัน ของสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ (Pali Text Society) ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกบาลีฉบับสากล เป็นที่อ้างอิงของนักวิชาการพุทธศาสนาทั่วโลกในปัจจุบัน " สมาคมบาลีปกรณ์ คือ Pali Text Society นั้น ตั้งขึ้นในกรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ 1881 ตรงกับ พ.ศ 2424 โดย Professor T.W. Rhys Davids แล้วก็ได้พิมพ์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถาภาษาบาลีฉบับอักษรโรมัน และคำแปลภาษาอังกฤษ มาตามลำดับ ได้จำนวนมากทีเดียว เบื้องต้นจะต้องเข้าใจกันให้ชัดไว้ก่อนว่า พระไตรปิฎกภาษาบาลีนั้นที่จริงมีฉบับเดียวเท่านั้น คือที่รักษา สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งที่พระอรหันต์ 500 รูป ประชุมกันรวบรวมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้ามาตั้งเป็นหลักไว้ เมื่อหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน ที่เรียกว่าสังคายนาครั้งที่ 1 แต่พระไตรปิฎกบาลีฉบับนี้ เมื่อชาว พุทธในประเทศต่างๆ จะนำไปรักษาและศึกษาในประเทศของตนๆ ก็คัดลอกกันไปโดยใช้อักษรของประเทศของ ตนๆ แล้วก็เรียกว่าฉบับอักษรนั้นๆ หรือฉบับของประเทศนั้นๆ เช่น ฉบับอักษรสิงหล หรือฉบับลังกา ฉบับอักษร ไทย หรือฉบับไทย ฉบับอักษรพม่า หรือฉบับพม่า ฯลฯ ความแตกต่างก็มีเพียงอักษรที่ใช้เขียนหรือจารึกเท่านั้น ภาษาก็ยังคงเป็นภาษาบาลีตามเดิม และเนื้อหาทั้งหมดก็เป็นคำความเดียวกันในภาษาบาลีของเดิม เพราะเหตุที่ท่านถือว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกบาลีนี้เป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธ ศาสนา เมื่อคัดลอกกันไป ก็เกรงว่าอาจจะมีการผิดเพี้ยนตกหล่น ท่านจึงคอยตรวจสอบกันอยู่เสมอๆ เวลาที่ ประชุมกันตรวจสอบเป็นครั้งใหญ่ๆ อย่างที่เรียกว่าสังคายนาครั้งหนึ่งๆ ก็รวบรวมเอาพระไตรปิฎกบาลีที่มีใน ประเทศต่างๆ ทั้งหลาย มาตรวจชำระโดยสอบทานกัน แต่ต้องเข้าใจว่า พระสงฆ์ที่ร่วมทำสังคายนานั้น ไม่ใช่มาดัดแปลงถ้อยคำหรือข้อความใดๆ ในพระไตร ปิฎก เพราะความมุ่งหมายอยู่ที่จะรักษาของเดิมไว้ให้แม่นยำบริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด (ถ้าใครขืนแทรกอะไรเข้าไป ก็ เรียกว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูป คือของเทียมหรือของปลอม) ดังนั้น ถ้าพบอะไรแปลกกันในต่างฉบับ แม้แต่เล็กน้อยที่ สุด เช่นอักษรต่างกันตัวเดียว อย่าง จ หรือ ว ท่านก็จะทำเชิงอรรถบอกไว้ว่า ฉบับนั้นมี จ ฉบับนี้มี ว เพราะฉะนั้น ความแตกต่างหรือพิเศษกว่ากัน ก็มีเพียงว่า 1. ฉบับไหนพิมพ์ทีหลัง ก็มีโอกาสได้ตรวจทานหลายฉบับ ก็ได้เปรียบที่จะบอกข้อแปลก เช่นบันทึกไว้ ในเชิงอรรถว่า ที่แปลกกันเล็กๆ น้อยๆ นั้นฉบับไหนเป็นอย่างไร 2. เมื่อการพิมพ์ทันสมัย อุปกรณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็มีการจัดรูปหน้า จัดย่อหน้า วรรคตอน ตั้งหัว ข้อ ให้ตัวอักษรหนา-บาง-เอน ทำดัชนีต่างๆ และวางระบบอ้างอิง เป็นต้น ให้ใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เนื้อตัวของพระไตรปิฎกแท้ๆ ก็ของเดิม อันเดียวกัน เมื่อสมาคมบาลีปกรณ์ คือ Pali Text Society ที่กรุงลอนดอน จะพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษร โรมัน แต่ชาวตะวันตกไม่เคยมีพระไตรปิฎกภาษาบาลีมาก่อน เขาก็มาคัดลอกเอาไปจากพระไตรปิฎกบาลีฉบับ อักษรสิงหลของลังกา ฉบับอักษรไทยของประเทศไทย และฉบับอักษรพม่าของพม่่านี่แหละ โดยเทียบเคียงสอบ ทานกัน แล้วพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ ก็คืออักษรฝรั่ง อย่างที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เป็นต้น นั่นเอง แต่เพราะปัญหาเรื่องทุนและกำลังคนที่มีอยู่น้อย จึงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเลือกพิมพ์ ออกมาทีละเล่มสองเล่มตามความพร้อมหรือเท่าที่มีกำลัง คัมภีร์ใดที่เห็นว่าสำคัญใช้ประโยชน์มาก และมีนัก ปราชญ์ผู้รู้บาลีที่จะทำได้ ก็ทำออกมาก่อน โดยไม่มีลำดับ ไม่เป็นระบบที่จัดวางไว้โดยรวมทั้งหมด