อายตนนิพพาน คือดับอายตนะ "อัตตา" ไม่มีโดยปรมัตถ์ เป็นเรื่องที่ชัดเจนไปแล้ว เอกสารของวัดพระธรรมกาย เขียนว่า "ลำพังการอาศัยหลักฐานทางคัมภีร์เท่าที่มีเหลืออยู่และศึกษาคัมภีร์เพียงบางส่วนเท่านั้นแล้ว มาสรุปลงไปว่า มีลักษณะเป็นอย่างใดอย่างนั้นโดยเด็ดขาด พร้อมกับปฏิเสธทรรศนะอื่นโดยสิ้นเชิง ทั้ง ที่ยังมีประเด็นทางวิชาการที่ต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบอีกมากอย่างที่ทำอยู่นั้น เป็นสิ่ง ที่พระเถระทั้งหลายในอดีตของเราไม่ทำกัน เป็นการสรุปเกิน เป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนาและอาจนำ มาซึ่งความแตกแยก" ต่อมาอีกแห่งหนึ่งเขียนว่า "ในขณะที่ประเด็นปัญหาว่า นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา ในทางวิชาการยังไม่อาจสรุป ลงได้นั้น สิ่งที่ชาวพุทธพึงทราบก็คือ อายตนนิพพานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยืนยันว่า มีอยู่จริง และทรงปฏิเสธว่าไม่ใช่สิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนี้ เพราะอายตนนิพพานเป็นสิ่งที่เกินกว่าวิสัยและประสบการณ์ ในโลกของปุถุชนใดๆ จะสามารถเข้าใจได้ . . ." ข้อสังเกตเบื้องต้น ก็คือ ในตอนแรกที่พูดถึงเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ทั้งที่หลักฐานว่านิพพาน เป็นอนัตตา มีหลายแห่งและสอดคล้องกันทั้งหมด เอกสารของวัดพระธรรมกาย ก็พูดเฉออกไปทำนองว่าหลัก ฐานที่มีเหลืออยู่เท่านี้ไม่เพียงพอ อ้างว่าเป็นข้อสรุปทางวิชาการ ซึ่งยังสรุปไม่ได้ และยังอ้างว่าพระเถระในอดีตก็ ไม่วินิจฉัยอีกด้วย แต่ตอนหลัง พอพูดเรื่องอายตนนิพพาน ทั้งที่หลักฐานที่จะอ้างในพระไตรปิฎกมีแห่งเดียว กลับยกเป็น ข้อยืนยันเต็มที่ เรื่อง " นิพพานเป็นอนัตตา " หลักฐานว่าอย่างไรและสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่ ก็ได้ยก ตัวอย่างมาแสดงเพียงพอแล้ว " นิพพานเป็นอนัตตา " เป็นเรื่องของหลักฐานแสดงหลักการของพระธรรมวินัย และหลักฐานนั้นชัดเจน ไม่ใช่เรื่องทัศนะความคิดเห็น และไม่เป็นเพียงข้อสรุปทางวิชาการ เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว ไม่ควรอ้างเรื่องทัศนะความ คิดเห็นและข้อถกเถียงทางวิชาการขึ้นมาอีก " นิพพานเป็นอนัตตา " เป็นเรื่องของหลักการที่แน่นอนของพระพุทธศาสนา พระเถระในอดีตถือเป็น เรื่องสำคัญยิ่งที่จะไม่ให้เกิดการสอนผิดพลาด และไม่ให้เกิดการนำลัทธิแปลกปลอมเข้ามาปน ท่านจึงเอาจริงเอา จังในการชำระสะสาง ดังกรณีสังคายนาครั้งที่ 3 ที่ได้เล่าไปแล้ว เอกสารของวัดพระธรรมกายที่ว่า " พระเถระทั้ง หลายในอดีตของเราไม่ทำกัน " นั้น เป็นการกล่าวตรงข้ามกับความเป็นจริง จะกลายเป็นการกล่าวตู่พระเถระใน อดีตเหล่านั้น เรื่อง " พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับอัตตาโดยปรมัตถ์ โดยประการทั้งปวง " เป็นเรื่องของหลักการสำคัญ ซึ่งเมื่อมีปัญหา ท่านก็ได้ยกขึ้นมาพิจารณาและชำระสะสางเสร็จสิ้นไปแล้ว ถ้ายังมีพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ มหายานฉบับใด หรือนิกายใดว่าอย่างอื่น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาอ้างให้สับสนปะปน ทำนองเดียวกับเรื่องสวรรค์ แดนสุขาวดีของพระอมิตาภะ ทางพุทธศาสนานิกายชินของญี่ปุ่นว่ามี ก็เป็นเรื่องของนิกายชินนั้น ไม่จำเป็นที่ พุทธศาสนาเถรวาทจะต้องมีสวรรค์สุขาวดี หรือแม้แต่พระอมิตาภะนั้นไปด้วย วิธีพูดเพื่อแสดงหลักการก็มีอยู่ แล้ว คือ อ้างให้ชัดลงไปว่า คัมภีร์ของนิกายนั้น หรือคำสอนของนิกายนั้นว่าอย่างนั้น จะได้รู้ความแตกต่างกัน ไม่ ต้องเอามาปะปนกัน (ที่จริงนั้น คำสอนของพุทธศาสนามหายานทั่วไป ก็ไม่ปรากฏว่าจะสอนให้นิพพานเป็นอัตตาหรือ อาตมันแต่ประการใด ถ้ามีมหายานนิกายย่อยใดสอนอย่างนั้น ทางวัดพระธรรมกายก็ควรยกขึ้นมาแสดงให้ ปรากฏ มหายานนิกายอื่นๆ จะได้แสดงเหตุผลข้อโต้แย้งบ้าง) เรื่อง " มติของพระพุทธศาสนาที่แท้ว่า อัตตามีเพียงโดย สมมติ ไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ " นั้น เมื่อมองดู ข้อสรุปของนักวิชาการทางตะวันตก แม้ว่าข้อสรุปนั้นจะไม่มีความสำคัญที่จะมาวินิจฉัยหลักการของพระพุทธ ศาสนาได้ แต่ก็น่าอนุโมทนาว่า เวลานี้นักวิชาการตะวันตกรุ่นใหม่ๆ ได้เริ่มมีความเข้าใจถูกต้องตรงตามหลักการ นี้ ดัง Professor Richard Gombrich นายกสมาคมบาลีปกรณ์แห่งอังกฤษ คนปัจจุบัน ได้เขียนหนังสือแสดงไว้ (ไม่ตรงกับที่ เอกสารของวัดพระธรรมกายอ้าง) " มติของพระพุทธศาสนาที่แท้ว่า อัตตามีเพียงโดยสมมติ ไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ และนิพพานก็รวมอยู่ใน ธรรมที่เป็นอนัตตา " นั้น พระไตรปิฎกและอรรถกถากล่าวระบุไว้ชัดเจนแล้ว การมีหลักฐานแสดงหลักการ สำคัญๆ ของพระศาสนาไว้เป็นการแน่นอนนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่พุทธบริษัทจะได้ใช้เป็นมาตรฐานวัดการศึกษาและ การปฏิบัติของตน ทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่เกิดความแตกแยก แต่ตรงข้าม ถ้าไม่มีหลักการที่ ชัดเจนแน่นอน หรือมีแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติต่อหลักการนั้นด้วยความซื่อตรง จึงจะทำให้เกิดความแตกแยก ในเรื่องหลักฐานที่แสดงหลักการนั้น แท้ที่จริง ถึงจะมีระบุแน่นอนแห่งเดียว เมื่อสอดคล้องกับคำสอน และหลักการโดยรวม ก็เพียงพอ แต่ที่ตั้งข้อสังเกตในที่นี้ก็เพราะว่า เอกสารของวัดพระธรรมกาย นั้น แสดงท่าทีที่ ไม่สม่ำเสมอ