จะเอาธรรมกายของพระพุทธเจ้า หรือธรรมกายแบบไหน ก็มีเสรีภาพเลือกได้ แต่ขอให้บอกไปตามตรง เรื่องธรรมกายที่มีความหมายแตกต่างกัน เป็นเรื่องสัมพันธ์กับกาลเวลาที่ต่างยุคต่างสมัย จึงไม่มีอะไร จะสับสน เรื่องธรรม- กายในมหายานเขาก็มีชัดของเขาอยู่แล้ว และถ้าต้องการรู้ว่าต่างกับเถรวาทอย่างไรก็ไม่ ต้องไปเที่ยวหาให้ยาก จะศึกษาหาอ่านเมื่อไรก็หาได้ มหายานเขาก็ยอมรับอยู่ว่า คำสอนเรื่องธรรมกายนั้นเขาพัฒนากันขึ้นมาหลังพุทธกาลหลายร้อยปี และของมหายานนั้นธรรมกายเป็นส่วนหนึ่งของหลักตรีกาย ที่ถือว่าพระพุทธเจ้าทรงมี 3 กาย คือ ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมาณกาย ทางเถรวาทเรามีข้อความในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงธรรมกายอยู่บ้าง ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่แล้ว ความต่างระหว่างธรรมกายที่เป็นความหมายเดิมของพระไตรปิฎกบาลี กับธรรมกายที่มหายานพัฒนาขึ้นมา ก็ ศึกษากันได้ง่าย แต่เวลานี้ยังมีธรรมกายของมหายาน กับธรรมกายของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีความหมายไม่เหมือนกัน อันนี้จะต้องมาศึกษากันใหม่ คือกลายเป็นเรื่องว่า จะต้องศึกษาความแตกต่างระหว่างธรรมกายของมหายานซึ่ง เป็นกายหนึ่งในสามของตรีกาย กับธรรมกายของวัดพระธรรมกายซึ่งทางมหายานเขายังไม่เคยได้ยิน และทางวัด พระธรรมกายเองยังไม่ได้พูดถึงอีก 2 กาย คือ สัมโภคกาย และนิรมาณกาย จึงควรแสดงเหตุผลแก่ทางฝ่าย มหายานว่า เหตุใดจึงไม่มีอีก 2 กายนั้น ส่วนทางเถรวาทนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องเถียงกับใคร เพราะไม่ได้ถือ ธรรมกายเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ตรีกายนั้นเป็นหลักของฝ่ายมหายาน เท่าที่ทราบก็ว่าพัฒนากันขึ้นในพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทิน หรือสรวาสติวาทะที่ได้สูญไปแล้ว แล้วมหายานก็พัฒนาต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ศึกษาพุทธศาสนามหายานเอง ไม่ใช่เรื่องที่ทางเถรวาทจะไปพูดว่าอะไร เพราะปราชญ์มหายานก็ยอมรับอยู่เองว่าเรื่องตรีกายนั้นเกิดหลัง พุทธกาลตั้งหลายศตวรรษอย่างที่กล่าวแล้วว่า มหายานรับช่วงพัฒนาต่อจากนิกายสรวาสติวาทะ ซึ่งเวลานี้ว่า อย่างไร ก็หาคำอธิบายได้ไม่ยาก ต่อมาพอถึงพุทธศาสนาแบบตันตระ ธรรมกายก็มาเป็นอาทิพุทธะ คือเป็นพระ พุทธเจ้าองค์ต้น ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเป็นที่มาของลัทธิต้นธาตุต้นธรรมหรือไม่ ปัจจุบันนี้ องค์ทะไลลามะนั้น ทางพุทธศาสนาแบบทิเบตถือว่าเป็นนิรมาณกายของพระโพธิสัตว์อวโลกิ เตศวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเองก็เป็นเรื่องสมัยหลังพุทธกาลมากมายหลายศตวรรษ เรื่องอย่างนี้นักปราชญ์ ศึกษากันมาเพียงพอแล้ว เพียงแต่เรารู้ว่าเป็นคำสอนของมหายานที่เกิดขึ้นทีหลัง ส่วนในทางพุทธศาสนาเถรวาท นั้น เรามุ่งที่คำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า คำว่าธรรมกายก็เป็นคำที่มีอยู่เดิม ทางมหายานนั่นแหละที่จะต้องมาศึกษาว่า หลักคำสอนเรื่องตรีกาย ของตนซึ่งรวมทั้งเรื่องธรรมกายนั้น ได้พัฒนาขยายความหมายขึ้นมาจากธรรมกายในพุทธศาสนาดั้งเดิมที่มีใน พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทอย่างไร เพื่อจะหาความหมายเดิมแท้ ๆ การที่จะเอาคำสอนเรื่องธรรมกายของ มหายานที่เกิดขึ้นภายหลังตั้งหลายศตวรรษ มาปะปนกับความหมายเดิมนั้นไม่ถูกต้อง มีแต่จะทำให้วุ่นวายสับ สนกันใหญ่ ขอย้ำว่า คำสอนธรรมกายของมหายาน กับคำสอนธรรมกายของวัดพระธรรมกายนั้น ต่างกันมากมาย ยิ่งกว่าธรรมกายมหายานต่างจากธรรมกายเดิมของพระพุทธเจ้า เรื่องวิชชาธรรมกายปัจจุบันของสำนักวัดพระธรรมกายนั้น ก็ควรจะกล่าวลงไปตรงๆ ไม่ต้องไปบอกว่า พระพุทธเจ้าค้นพบ หรือทรงสอนไว้แล้วหายไปจนต้องมีการค้นพบใหม่ ก็พูดไปตรงๆ ว่า อาจารย์ของสำนัก ท่านได้จัดวางของท่าน และได้สอนขึ้นมาในความหมายของท่าน เรื่องก็เท่านั้นเอง เพราะว่าธรรมกายที่ว่านี้ ก็ไม่ ได้มีความหมายตรงกับธรรมกายเดิมในพระไตรปิฎก หรือแม้แต่ธรรมกายของมหายาน ที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาใน ยุคหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปหลายร้อยปี ควรจะมีความแจ่มชัดดังที่กล่าวมาแล้ว