จะมองดูรูปกาย ก็อาศัยเพียงตาเนื้อ แต่ต้องมีตาปัญญา จึงจะมองเห็นธรรมกาย ในคัมภีร์รุ่นรองลงมา ตั้งแต่อรรถกถา มีการใช้คำว่า "ธรรมกาย" บ่อยขึ้น เพราะมีการพรรณนาพระคุณ ของพระ พุทธเจ้าบ่อยขึ้น และจำนวนคัมภีร์ก็มากด้วย แต่ความหมายก็ชัด คือ มักใช้คู่เคียงกับคำว่า " รูปกาย " ยกตัวอย่างสักแห่งหนึ่ง โยปิ โส ภควา อสีติอนุพฺยญฺชนปฏิมณฺฑิตทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณวิจิตฺตรูปกาโย สพฺพาการปริสุทฺธสีล กฺ- ขนฺธาทิคุณรตนสมิทฺธธมฺมกาโย (วิสุทฺธิ.2/7) แปลว่า: " พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้พระองค์ใด ทรงมีพระ รูปกายอันวิจิตรด้วยมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ อันประดับด้วยอนุพยัญชนะ 80 ทรงมีพระธรรมกายอันสำเร็จด้วยรัตนะ คือพระคุณ เช่น ศีลขันธ์ (กองศีล) อันบริสุทธิ์โดยอาการทั้งปวง" ยกตัวอย่างอีกแห่ง แต่เพราะข้อความยาวมาก ขอคัดมาแสดงเพียงบางส่วน ปาสาทิกนฺติ พตฺตึสมหาปุริสลกฺขณ . . . รูปกาย . . . ปสาทนียนฺติ ทสพลจตุเวสารชฺชฉอสาธารณ ญาณอฏฐารสอาเวณิกพุทฺธ-ธมฺมปฺปภุติอปริมาณคุณคณสมนฺนาคตาย ธมฺมกายสมฺปตฺติยา . . . ปสา ทารหํ วา. (อุ.อ.90) แปลว่า: " (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ' ผู้น่าเลื่อมใส ' หมายความว่า ทรงนำมาซึ่งความเลื่อมใสทั่วทุกด้าน แก่ชนผู้ขวนขวายในการเห็นพระรูปกาย เพราะความสมบูรณ์ ด้วยความงามแห่งพระสรีระของพระองค์ อันประดับด้วยมหาบุรุษลักษณะ 32 อนุพยัญชนะ 80 พระรัศมีเปล่งออก 1 วาโดยรอบ และพระเกตุ มาลา น่าเลื่อมใสทั่วทุกส่วน ' ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ' หมายความว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เหมาะที่จะพึงเลื่อมใส หรือควรแก่ความเลื่อมใสของคนผู้มีปัญญาอันสม เพราะความสมบูรณ์ด้วยพระธรรมกาย อันประกอบ ด้วยมวลแห่งพระคุณอัน ประมาณมิได้ เริ่มแต่พระทศพลญาณ เวสารัชชญาณ 4 อสาธารณญาณ 6 และพุทธธรรมที่เป็นพระคุณสมบัติเฉพาะ 18 ประการ' จากตัวอย่างเล็กน้อยนี้ ก็พอจะให้มองเห็นความหมายของคำว่า " ธรรมกาย " พร้อมทั้งความมุ่งหมาย ในการกล่าวคำนี้ในคัมภีร์ ว่ามุ่งใช้ในการพรรณนาพระคุณสมบัติต่างๆ ของพระพุทธเจ้าเป็นส่วนมาก แต่ก็เป็น พระคุณที่เราควรจะอนุวัตรตามกำลัง เพื่อให้ธรรมกาย คือ กองแห่งธรรมหรือคุณสมบัติในตัวเราเจริญงอกงาม ขึ้นด้วย โดยบำเพ็ญคุณสมบัติและข้อปฏิบัตินั้นๆ ขึ้นมา แต่ไม่ใช่มาปฏิบัติการอะไรอย่างหนึ่ง เป็นการเฉพาะ ที่ เรียกว่าเข้าถึงธรรมกาย ขอประมวลไว้เป็นความรู้ประกอบว่า คำว่า " ธรรมกาย " นี้ มีมาในคัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นภาษาบาลีเท่าที่ รวบรวมไว้ตอนนี้ ก. โดยรูปศัพท์ 43 รูป แยกเป็น 1) มาในรูปโดดๆ เฉพาะ ธมฺมกาย-ที่แจกวิภัตติต่างๆ 14 รูปศัพท์ 2) มาในคำสมาส มีคำอื่นต่อท้าย 13 รูปศัพท์ 3) มาในคำสมาส มีคำอื่นนำหน้า 16 รูปศัพท์ ข. โดยหลักฐานที่มา 125 แห่ง แยกเป็น 1)มาในพระไตรปิฎก (รูปโดด 3+รูปสมาส 1) 4 แห่ง 2)มาในปกรณ์พิเศษ (มิลินทปัญหา 1+เปฏโกปเทส 1+วิสุทธิมัคค์ 2) 4 แห่ง 3)มาในอรรถกถา 43 แห่ง 4)มาในฎีกาและอนุฎีกา 68 แห่ง 5)มาในคัมภีร์รุ่นหลังนอกนี้ 6 แห่ง (ส่วนเอกสาร และหลักฐานนอกภาษาบาลี ไม่ต้องนำมากล่าว) ถ้าเทียบกับข้อธรรมสำคัญอย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ฯลฯ ก็นับว่า " ธรรมกาย " มาไม่มากครั้ง แต่ ถ้ามองในแง่ว่าเป็นคำที่ใช้ในความหมายพิเศษ ไม่ใช่ตัวหลักธรรม หลักฐานที่มาเพียงเท่านี้ก็ไม่น้อย และเกินพอ ที่จะให้เห็นความหมายได้ชัดเจน จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่จะกล่าวว่าตกหล่นไป (ถึงจะตกหล่น ก็ไม่เป็นเหตุให้เสีย ความหมาย หรือกระทบอะไรต่อหลักการแม้แต่น้อย) เป็นอันว่า " ธรรมกาย " นี้เป็นคำพูดรวมๆ หมายถึงธรรมหลายๆ อย่าง ทั้งชุดทั้งหมวด (สมกับคำว่า " กาย " ที่แปลว่ากอง หรือที่รวม หรือชุมนุม) โดยเฉพาะโลกุตตรธรรมทั้งหมด คือมรรค ผล นิพพาน ทั้ง 9 คำว่า "ธรรมกาย" มีความหมายอย่างที่กล่าวมานี้ คือเดิมนั้นไม่ได้เป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่ เป็นการกล่าวขึ้นในสถานการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะใช้ในเชิงเปรียบเทียบ และข้อสำคัญก็คือไม่ใช่เป็นหลักธรรม อันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการกล่าวรวมๆ เช่นอย่าง โลกุตตรธรรม ก็หมายถึงโลกุตตร-ธรรมที่พูดแบบคลุม ๆ รวมๆ ทั้งหมดทั้งชุด อนึ่ง การเห็นธรรมกายที่ว่านี้ ท่านก็อธิบายว่าได้แก่การเห็น อริยสัจจ์ 4 นั่นเอง และท่านก็บอกไว้ด้วยว่า การเห็นธรรมกายคือเห็นอริยสัจจ์ 4 นี้ ต้องเห็นด้วยปัญญาจักษุ คือด้วยตาปัญญา เราเห็นรูปกายด้วยตาเนื้อ แต่ จะเห็นธรรมกายด้วยตาปัญญา (ไม่ใช่เห็นด้วยสมาธิ ถ้าเห็นด้วยสมาธิก็จะเป็นการเห็นนิมิตอะไรอย่างใดอย่าง หนึ่ง) สมาธินั้นเราใช้เพียงเป็นตัวช่วยทำให้จิตพร้อมที่จะทำงานในทางปัญญา ซึ่งจะทำให้มองเห็นธรรมกาย ด้วยปัญญานั่นอีกที หนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีคำว่าวิชชาธรรมกาย เพราะธรรมกายเป็นเพียงถ้อยคำอย่างที่กล่าว มาแล้ว ใช้เฉพาะในบางกรณี และใช้เชิงเปรียบเทียบ อีกทั้งเป็นคำกล่าวคลุมๆ รวมๆ ในหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น คำว่า " วิชชา " ท่านมีหลักวางไว้แล้ว ในคำวิชชา 3 ซึ่งหมาย ถึง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ หรือวิชชา 8 ประการ ที่ขยายออกไปอีก ซึ่งก็ไม่ มีคำว่าวิชชาธรรมกายนี้ หมายความว่า คำว่า " วิชชา " ของท่านมีอยู่แล้ว และวิชชาเหล่านี้ก็ยังปรากฏในคำสอน อยู่ครบถ้วน และเป็นตัวหลักที่แท้ของการที่จะให้บรรลุธรรมขั้นสูงในพระพุทธศาสนา ตลอดจนบรรลุนิพพาน ไม่ มีวิชชาอะไรที่หายไป จึงไม่ต้องมีวิชชาอะไรมาเพิ่มเติมอีก จะต้องย้ำว่า " ธรรมกาย " เป็นคำพูดรวมๆ หมายถึงองค์ธรรมหลายอย่าง ประมวลเข้าด้วยกัน โดย เฉพาะมรรค ผล นิพพาน หลักธรรมสำคัญๆ เหล่านั้น มีวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุหรือเข้าถึงชัดเจนจำเพาะอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีวิธีปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงธรรมกายซ้อนขึ้นมาอีก