ความชื่อตรงต่อหลักพระศาสนา และมีเมตตาต่อประชาชน คือหัวใจของการรักษาระบบไตรสิกขาไว้ให้แก่ประชาสังคม หลักเกณฑ์ที่กล่าวมานี้มีความจำเป็นและยุติธรรม เพราะพระพุทธศาสนาไม่มีการบังคับศรัทธา แต่ให้ เสรีภาพแก่ทุกคนอย่างเปิดกว้างที่สุด จึงมีหลักเกณฑ์เป็นมาตรฐาน เหมือนอย่างในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งต้อง อยู่ด้วยกฎหมายหรือกติกา ด้วยวิธีนี้ พระพุทธศาสนาตัวจริงที่เป็นหลักการจึงอยู่มาได้ ท่ามกลางประชาชนที่มี ความรู้ความเข้าใจในพระศาสนาต่างๆ กัน มากบ้างน้อยบ้าง และมีความคิดเห็นหลากหลาย โดยที่สถาบันพระ พุทธศาสนาอยู่กับเขาด้วยเมตตา ไม่ไปบังคับเขาให้ต้องเชื่อและทำตาม เมื่อมองสังคมพุทธเถรวาทในวงกว้าง ก็เป็นคล้ายอย่างที่ฝรั่งเป็นต้นบางพวกมามองว่า เมืองไทย เหมือนมีพระพุทธศาสนา 2 แบบ คือ พุทธศาสนาที่เป็นตัวแท้ตัวจริง กับพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน แต่นอกเหนือ จากที่ว่านี้ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เขาอาจจะมอง ไม่ถึง คือสะพานเชื่อมระหว่างพระพุทธศาสนา 2 แบบนั้น ที่ว่านี้หมายความว่า ในขณะที่พระพุทธศาสนาแบบตัวแท้ดำรงรักษาหลักการแห่งนิพพานที่เป็นสภาว ธรรมอสังขตะไว้ ประชาชนอาจจะเชื่อถือเพี้ยนออกไปไกล จนแม้แต่มองพระนิพพานเป็นอมตมหานคร ดังคำ ประพันธ์เชิงกวีในภาษาบาลีและวรรณคดีเก่าๆ ของไทย ทั้งสองอย่างก็อยู่คู่กันมาได้ โดยไม่อึดอัดขัดแย้ง เพียง แต่คอยระวังโดยไม่ประมาท ไม่ให้ถลำไปไกล แต่ข้อสำคัญ ระหว่าง 2 แบบนั้น ที่ว่ามีสะพานเชื่อม ก็คือ พระพุทธศาสนาแบบตัวแท้ก็จะคอยหา โอกาสแนะนำสั่งสอนหลักการที่แท้จริงอยู่เสมอ แล้วในหมู่ประชาชนมากมายที่แตกต่างหลากหลายเหล่านั้น บางคนบางส่วนก็จะทยอยก้าวขึ้นมาสู่พระพุทธศาสนาแบบตัวแท้ตัวจริงนั้น โดยนัยนี้การพัฒนาคน และพัฒนา สังคมก็เกิดขึ้น ปัจจัยสำคัญที่รักษาระบบนี้ไว้ ก็คือ การดำรงรักษาหลักการที่แท้จริงไว้อย่างมั่นคงด้านหนึ่ง และเสรี ภาพทางปัญญาของประชาชนในบรรยากาศแห่งเมตตาอีกด้านหนึ่ง พร้อมกับตัวประสานก็คือการที่พระสงฆ์ ปฏิบัติศาสนกิจนำธรรมวินัยที่ได้เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติมาเผยแผ่สั่งสอนประชาชนโดยไม่ประมาท ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมาทำลายระบบที่ว่ามานี้เสีย ก็คือ การฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จาก ศรัทธาของประชาชนชาวบ้าน พร้อมกับทำลายตัวหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะทำให้สะพานเชื่อม ระหว่างพระพุทธศาสนา 2 แบบนั้น พังทะลายขาดไปด้วย เหลือไว้แต่ความสับสน พร้อมกับความสูญสิ้นของพระ พุทธศาสนา และความเสื่อมสลายแห่งประโยชน์สุขของประชาชน 2. ความชัดเจนในการพิจารณาปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การแยกแยะขั้นตอนหนักเบาของการกระทำ ว่าแค่ไหนจะกระทบกระเทือน หรือถึงกับทำลายพระธรรมวินัย อย่างน้อยจะเห็นได้ว่าสามารถแยกเป็น 3 ขั้น 1) ขั้นทัศนะส่วนตัว ท่านผู้นั้นยังไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือไม่เชื่อ และอาจจะแสดงทัศนะออกมาเป็นการไม่ ยอมรับ ไม่พอใจ หรือน้อยใจต่อคำสั่งสอนในพระธรรมวินัย ซึ่งยังเป็นเรื่องของการที่จะชี้แจงถกเถียง และดำเนิน การต่างๆ ในกระบวนการของการศึกษา 2) ขั้นปฏิเสธพระศาสดา หรือปฏิเสธพระธรรมวินัย เช่น กล่าวว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานที่เชื่อถือ ไม่ได้ หรือพยายามทำให้ผู้คนเข้าใจสับสนว่า พระไตรปิฎกบันทึกไว้ตกๆ หล่นๆ เอาเป็นมาตรฐานไม่ได้ เพราะ ฉะนั้นหลักการที่มีอยู่ในคัมภีร์จึงเชื่อถือไม่ได้ (ขั้นนี้คือที่กล่าวว่า ถ้าผู้ปฏิเสธเป็นพระภิกษุ ก็คือปฏิเสธความเป็น พระภิกษุของตน เพราะเป็นการปฏิเสธพุทธบัญญัติที่กำหนดการบวชและศีล 227 ที่ตนรักษา) 3) ขั้นปลอมปนพระธรรมวินัย คือกล่าวให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป เช่น เมื่อพระไตรปิฎกสอนว่า อย่างนี้ กลับบอกว่าพระไตรปิฎกไม่ได้สอนอย่างนี้ แต่สอนอย่างนั้น หรือนำเอาคำสอนและบัญญัติภายนอก แม้ แต่ของพุทธศาสนานิกายอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงปะปนในพระธรรมวินัยหรือในพระไตรปิฎก ขั้นที่ 2 และ 3 นี้ เรียกว่า เป็นการจาบจ้วงพระธรรมวินัย จะเห็นว่า พระเถระ และพระมหาเถระทั้งหลาย ที่แสดงมติ ทัศนะ ความเห็นต่างๆ กันไปนั้น มักอยู่เพียง ในขั้นที่ 1 ท่านไม่ได้ก้าวล่วงมาถึงขั้นที่ 2 และ 3 เมื่อพุทธศาสนิกชนรู้หลักเกณฑ์วินิจฉัยในพระศาสนา ก็รับฟัง ด้วยความเท่าทันและช่วยกันศึกษาต่อไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามเอกสารของวัดพระธรรมกาย เป็นเหตุให้ต้องแก้ไข ก็เพราะเป็นการกระทำที่ถึง ขั้นจ้วงจาบพระธรรมวินัย ทั้งขั้นที่ 2 และ ขั้นที่ 3