เมื่อจำนนด้วยหลักฐาน ก็หาทางทำให้สับสน ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากการพยายามทำให้สับสนโดยวิธีต่างๆ เช่น เอาหลักฐานกับความคิดเห็น ของบุคคลมาปะปนกันเป็นต้น ทุกคนจะต้องทันและแยกแยะให้ถูก การที่จะวินิจฉัยได้แน่ชัดจะต้องไม่ออกนอก ประเด็น ขอยกข้อความในหนังสือ " นิพพานัอนัตตา " (หน้า 10-11) มากล่าวซ้ำอีก " ประเด็นที่พิจารณาในที่นี้ คือ พระไตรปิฎกและอรรถกถาว่าอย่างไร ไม่ได้พูดถึงความเห็นของบุคคล จึงเป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงเอาคำพูดของคัมภีร์มาแสดงให้เห็นแท้ ๆ ล้วน ๆ เมื่อแสดงหลักฐาน ถ้อยคำของคัมภีร์เสร็จแล้ว ตนเองมีความเห็นอย่างไรก็แสดงออกไป ไม่เอาไป ปะปนกับถ้อยคำของคัมภีร์ ผู้อ่านจึงจะไม่สับสนและไม่เข้าใจผิด ต้องการรู้อย่างเดียวว่า คัมภีร์พูดว่าอย่างไร ก็เอาถ้อยคำของคัมภีร์มาแสดงจำเพาะ แท้ ๆ ล้วน ๆ ไม่เอาถ้อยคำและความคิดเห็นของตนเข้าไปปะปน ต่อจากนั้นตนมีความเห็นอย่างไร ในเรื่องนั้น หรือได้เห็นผลจากการปฏิบัติของตน หรือของสำนักของ ตนอย่างไร ก็บอกแจ้งหรือแสดงไปตามนั้น (ผู้อื่นไม่จำเป็นต้องยอมรับและเห็นด้วย) ถ้อยคำหรือมติของคัมภีร์นั้นๆ ตนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ไปตามตรง คัมภีร์นั้นๆ ตนจะเชื่อหรือไม่ หรือจะว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ไม่ว่าตนจะเชื่อหรือไม่ ข้อความในคัมภีร์ก็เป็นอยู่อย่างนั้น " นอกจากนี้เอกสารของวัดพระธรรมกายยังพูดเฉไฉออกไปอีกว่า " นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจสภาพสังคมอินเดียในครั้งพุทธกาล ว่าผู้คนมีความคิด ความอ่าน ความเชื่ออย่างไร นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาจึงต้องศึกษาให้เข้าใจ คำสอนของ พระเวท อุปนิษัท เชน และลัทธิความเชื่ออื่นๆ ของอินเดียที่มีอิทธิพลในยุคนั้น ๆ รวมทั้งศึกษาประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การแตกนิกาย ปฏิสัมพันธ์ ระหว่างพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ และระหว่างพุทธกับลัทธิศาสนาอื่น การศึกษาให้เข้าใจภูมิหลังทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความเชื่อในยุคนั้นๆ นี้เอง จะทำให้เราตีความเข้าใจความหมายของคำสอนในพระพุทธ ศาสนาของเราเองได้ถูกต้องลึกซึ้งชัดเจนขึ้น " ข้อความนี้เป็นคำกล่าวผิดที่และสรุปผิดเป้า เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องของหลักการที่มีหลักฐานแน่นอนอยู่ แล้ว ซึ่งระบุไว้ชัดเจนมาแต่ดั้งเดิมในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตีความ และไม่ใช่เรื่องความเห็น สิ่งที่ ต้องทำคือการกล่าวให้ตรงไปตรงมาตามข้อความที่มีมาในคัมภีร์ ท่านว่าอย่างใดก็ยกมากล่าวอย่างนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเราได้หลักฐานของพระไตรปิฎกแน่ชัดแล้ว การศึกษาสังคมอินเดีย พร้อมทั้ง ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางความคิด จึงจะเกิดประโยชน์ที่แท้จริง คือจะช่วยให้เรามองอะไรๆ ชัดเจนขึ้น เช่น เข้าใจขึ้นมาว่าสังคมอินเดียเป็นอย่างไร ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลอย่างไร และประชาชนถูกครอบงำทำให้ เกิดปัญหาอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสแสดงหลักการนี้ขึ้น แต่ตรงข้าม ถ้าจับหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่ชัด แล้วไปศึกษาผิดๆ มา ตนเองก็จะเกิดความลุ่่มหลงไขว้เขว แทนที่จะเข้าใจสังคมอินเดีย และเข้าใจพระ พุทธศาสนา ก็กลายเป็นการสร้างความสับสนยิ่งขึ้น