การจับคำความที่ผิดมาอ้างเป็นหลักฐาน เพื่อให้นิพพานเป็นอัตตา มีพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง ที่บางท่านชอบนำไปอ้างเพื่อยืนยันว่านิพพานเป็นอัตตา คือ พุทธพจน์ว่า ชญฺญา นิพฺพานมตฺตโน (ขุ.อุ. 25/77) แปลว่า: " พึงรู้นิพพานของตน " ที่จริงในสุตตนิบาตก็มีพุทธพจน์คล้ายกันว่า สิกฺเข นิพฺพานมตฺตโน (ขุ.สุ 25/422) แปลว่า: " พึงศึกษานิพพานของตน " ที่จริงพุทธพจน์นี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่ใช่นิพพานเป็นอัตตา แต่มีสิ่งหนึ่งที่ท่านใช้คำว่าอัตตา/ตน มา เป็นเจ้าของนิพพาน สิ่งที่ว่าเป็นอัตตา/ตัวตนที่เป็นเจ้าของนิพพาน คือ อัตตโน ตัวนี้ สำหรับในสุตตนิบาต ท่านมี คำอธิบายไว้ในพระไตรปิฎกนั่นเอง คือคัมภีร์มหานิทเทส ซึ่งขยายความว่า " สิกฺเข นิพฺพานมตฺตโนติ . . . นิพฺพานมตฺตโนติ อตฺตโน ราคสฺส นิพฺพานาย โทสสฺส นิพฺพา นาย โมห สฺส นิพฺพานาย... แปลว่า: " พุทธพจน์ว่า ' พึงศึกษานิพพานของตน ' มีความหมายว่า . . . นิพพานของตน คือ (พึงศึกษา) เพื่อดับราคะ เพื่อดับโทสะ เพื่อดับโมหะ ของตน " (ขุ.ม.29/816 เป็นต้น) และอรรถกถา (ทั้งอรรถกถาสุตตนิบาตัสุตฺต.อ 2/440 และอรรถกถามหานิทเทสันิทฺ.อ.1/27) ยังเอาไปไขความอีก คล้ายๆ กันว่า " สิกฺเข นิพฺพานมตฺตโนติ อตฺตโน ราคาทีนํ นิพฺพานมตฺถาย อธิสีลาทีนิ สิกฺเขยฺย " แปลว่า: " พุทธพจน์ว่า ' พึงศึกษานิพพานของตน ' หมาย ความว่า พึงศึกษาอธิศีลเป็นต้น เพื่อ ประโยชน์ในการดับกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น ของตน " ส่วนพุทธพจน์ในคัมภีร์อุทาน ที่ว่า " พึงรู้นิพพานของตน " นั้น คำว่า " ของตน " อรรถกถา (อุ.อ.201) อธิบายว่าได้ แก่ มรรคญาณ และผลญาณ ซึ่งก็ชัดอยู่แล้วว่า มรรค ก็ตาม ผล ก็ตาม ญาณ หรือปัญญา ก็ตาม นั้นเป็น สังขต ธรรม คือเป็นสังขารอยู่ในขันธ์ 5 เพราะฉะนั้น คำว่าตนในที่นี้ จึงเป็นอัตตาโดยสมมติอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว เพราะ ว่าเมื่อ มรรคญาณ ผลญาณ เป็นสังขาร อยู่ในขันธ์ 5 ก็เป็น อนัตตานั่นเองโดยปรมัตถ์ เรารู้กันดีว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการพึ่งตน และ " พึ่งตน " ก็คือ ผลักดันกระบวนการแห่ง เหตุปัจจัย ที่เรียกว่า " ธรรม " ให้ดำเนินไปสู่่จุดหมาย พูดง่ายๆ ว่า ทำเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงมีคำสอนที่ให้รู้้ ว่าพึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม และในระหว่างการปฏิบัติก็จะมีคำสอนที่กล่าวถึงตน/อัตตานี้มากมาย ตลอดเวลา เมื่ออธิบายท่านก็จะบอกว่า ตน/อัตตา คือ ธรรม หรือบางทีเรียกว่า ธรรมกาย (คือประมวลแห่งธรรม หรือคุณสมบัติทั้งหลาย) นี้ ได้แก่ โลกิยโลกุตตรธรรม บ้าง ได้แก่ โลกุตตรธรรม บ้าง (เช่นว่าพึ่งตน พึ่งธรรม, ที. ม.10/93/119; ตน/อัตตา = ธรรม = โลกิยโลกุตตรธรรม, ที.อ. 3/30; ตน/อัตตา = ธรรม = โลกุตตรธรรม 9, สํ.อ. 3/277; ตน/อัตตา = ธรรมกาย ซึ่งอย่างสูงคือโลกุตตรธรรม 9, จริยา อ.324) แล้วแต่ขั้นตอนของการปฏิบัติ เป็น การบอกให้รู้ในตัวว่า ตน/อัตตานี้ เป็นคำเรียกขานตามสมมติของภาษา และเป็นคำที่ใช้ในกระบวนการปฏิบัติ หมายถึงธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติต่างๆ ตลอดจนคุณสมบัติที่เป็นผลของการปฏิบัติ (คือธรรมต่างๆ ในระดับสังขาร/ สังขตธรรม/ขันธ์ 5 ที่ข้างต้นได้บอกแล้วว่าโดยปรมัตถ์เป็นอนัตตา) แต่ไม่มีการใช้ "ตน/อัตตา" นี้ในฐานะเป็นจุด หมายที่จะไปเข้าถึง เช่น ไม่มีคำว่าบรรลุอัตตา หรือเข้าถึง/เข้ารวมกับอัตตา/อาตมัน อย่างลัทธิที่ถืออัตตา พูด ง่ายๆ ว่า นิพพานไม่ใช่ภาวะเช่นนั้น