เพราะยังมีพระไตรปิฎกเถรวาทไว้เป็นมาตรฐาน พระมหายานจึงมีโอกาสย้อนกลับมาหาพุทธพจน์ที่แท้ มองในทางกลับกัน ถ้าพระเถระในอดีตเป็นอย่างที่พวกเราเป็นกันอยู่่เวลานี้ ก็เห็นได้ชัดว่าพระพุทธ ศาสนาคงไม่อยู่ยืนยาวมาถึงปัจจุบันได้แน่ หรือถ้าอยู่ก็คงเป็นคล้ายอย่างพระมหายานในญี่ปุ่น ที่นอกจากมี ครอบครัว เป็นนักธุรกิจ ฯลฯ แล้วก็ยังแตกแยกย่อยออกไปมากมายเป็นร้อยๆ นิกายย่อย ที่มหายานเป็นอย่างนี้ ก็สืบมาแต่เดิม คือแตกแยกย่อยกันมาเรื่อยๆตั้งแต่ก่อนเป็นมหายาน คือตั้งแต่ ยุคเดิมที่เป็นหินยาน ซึ่งคัมภีร์ของเถรวาทได้บันทึกเรื่องราวไว้แต่ต้น ขอเล่าโดยย่อ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ 1 ศตวรรษ คือ ถึง พ.ศ. 100 ภิกษุพวกหนึ่งเรียกว่า "วัชชีบุตร" ได้ ถือตามลัทธิอาจารย์ว่าการไม่ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติบางอย่าง รวม 10 ข้อ ไม่เป็นความผิด เป็นเหตุให้พระเถระ ผู้ต้องการรักษาพระธรรมวินัยไว้ตามเดิมแบบเถรวาท ได้จัดให้มีการสังคายนาครั้งที่ 2 ขึ้น อย่างไรก็ตาม ภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอม และได้แยกตัวไปตั้งเป็นนิกายขึ้นต่างหาก เรียกชื่อว่า "มหาสังฆิกะ" (พวกสงฆ์หมู่ใหญ่) เป็นอาจริยวาทกลุ่มแรก พอแยกออกไปแล้ว ปรากฏว่าลัทธิถือตามอาจารย์ (อาจริยวาท) ก็ เกิดมากขึ้น มหาสังฆิกะได้แตกแยกย่อยออกไป จนกลายเป็นอาจริยวาท 6 นิกายย่อย ทางด้านเถรวาทเดิม ก็ได้มีอาจริยวาทแยกตัวออกไป 2 พวก แล้ว 2 พวกนั้น ก็ไปแตกแยกย่อยออกไป เรื่อยๆ จนกลายเป็น 11 อาจริยวาท ความแตกแยกเกิดอาจริยวาทต่างๆ มากมายนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 100 ปี ดังนั้น เมื่อถึง พ.ศ. 200 จึงมี พระพุทธศาสนานิกายย่อยรวมทั้งหมด 18 นิกาย1 เป็นเถรวาทดั้งเดิม 1 กับอาจริย-วาท 17 นิกาย โดยนัยนี้ เมื่อถึงรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช ใน พ.ศ. 218 พระพุทธศาสนาซึ่งรุ่งเรืองในด้านการ อุปถัมภ์บำรุง กลับไม่มีเอกภาพ มีการสั่งสอนลัทธิแปลกแยกกันมากมายสับสน จนทำให้ต้องจัดการสังคายนา ครั้งใหญ่อีกเป็นครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 235 ซึ่งมีการชำระสะสางทิฏฐิต่างๆ ที่แตกแยกแปลกปลอม ดังที่ประมวลไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม 37 คือ กถาวัตถุ รวม 219 หัวข้อ (เรียกว่า กถา) เริ่มด้วยข้อแรก คือ ลัทธิถืออัตตา ของพวก นิกายวัชชีบุตร และนิกายสมิติยะ พร้อมทั้งอัญญเดียรถีย์มากมาย มีความยาวเป็นพิเศษถึง 83 หน้า เรียกรวมๆ ว่า "ปุคคลกถา" นิกายมหาสังฆิกะเป็นเจ้าของทิฏฐิที่ท่านชำระสะสางครั้งนี้ หลายเรื่อง(ไม่ต่ำกว่า 19 เรื่อง) ยกตัวอย่าง เช่น พวกมหาสังฆิกะบางส่วน ถือทิฏฐิร่วมกับพวกนิกายสมิติยะ นิกายวัชชิปุตตกะ และนิกายสัพพัตถิกวาท (= สรวาสติวาท) ว่า พระอรหันต์ก็เสื่อมถอยจากอรหัตตผลที่บรรลุแล้ว กลับมาเป็นปุถุชนอีกได้ (เรื่องใน "ปริหานิ กถา") ดังนี้เป็นต้น หลังจากสังคายนาครั้งที่ 3 แล้ว ก็เกิดมีเอกภาพขึ้นอย่างน้อยในส่วนกลางแห่งมหาอาณาจักรของพระ เจ้าอโศกมหาราช และได้มีการส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา 9 สาย ที่รู้กันว่าสายหนึ่งมายังทวาราวดี ซึ่งอยู่ในที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน ด้วย อย่างไรก็ตาม ในรอบนอกของชมพูทวีป ไกลออกไป ก็ยังมีพระภิกษุที่ถืออาจริยวาทต่างๆ ไปเผยแพร่ อยู่ จึงปรากฏต่อมาว่า หลังจากสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเกือบ 4 ศตวรรษ เมื่อพระเจ้ากนิษกมหาราชครองแผ่น ดินแถบอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ที่เมืองบุรุษปุระ (ปัจจุบันคือ Peshawar ในปากีสถาน) ไกลออกไปทาง ตะวันตกเฉียงเหนือ จากนครปาตลีบุตร (ปัจจุบันคือ Patna) เมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณ 1,625 ก.ม. เมื่อ พ.ศ. 621 พระองค์เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ใฝ่พระทัยศึกษาธรรม ถึงกับนิมนต์พระภิกษุไปสอน ธรรมแก่พระองค์ทุกวันๆ ละรูป พระภิกษุแต่ละรูปสอนแตกต่างกันบ้าง ขัดกันบ้าง ทำให้ทรงสับสน จนกระทั่งทรง ปรึกษาพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งได้ถวายคำแนะนำให้จัดการสังคายนาขึ้นประมาณ พ.ศ. 643 สังคายนาครั้งนี้ ถือว่าเป็นของนิกายสัพพัตถิกวาท (สรวาสติวาทะ) และมีภิกษุมหายานร่วมด้วย ต่อมา แม้นิกายสรวาสติวาทะสูญสิ้นไปแล้ว เช่นเดียวกับอาจริยวาทยุคแรกที่เป็นหินยานหมดทั้ง 17 นิกาย (มหาสังฆิ กะได้พัฒนามาเป็นมหายาน) ทางฝ่ายมหายานก็นับเอาสังคายนาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ของตน (ไม่ยอมรับ สังคายนาครั้งที่ 3 ที่พระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 235; และในทำนองเดียวกันทางเถรวาทก็ไม่นับการ สังคายนาครั้งนี้) พระเจ้ากนิษกะได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา และได้ทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาเซียก ลาง ซึ่งได้เป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนามหายานแพร่หลายต่อไปสู่จีน เกาหลี มองโกเลีย และญี่ปุ่น เมื่อพระพุทธศาสนามหายาน เจริญขึ้นในประเทศเหล่านั้นแล้ว ก็แตกแยกนิกายและสาขาย่อยออกไปๆ จนในที่สุดจึงมาเห็นกันว่า ถึงจะแตกแยกไปเป็นนิกายไหนๆ ก็ควรจะต้องศึกษาพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท เพื่อจะได้รู้หลักคำสอนตามพระพุทธพจน์ดั้งเดิม และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างที่ Professor Mizuno ได้กล่าวไว้ข้างต้น