กรณีธรรมกาย ต้นเรื่อง กรณีธรรมกาย ถึงขั้นจ้วงจาบพระธรรมวินัย เมื่อ 9 วันที่ผ่านมานี้ คือวันที่ 11 มกราคม 2542 ได้มีผู้สื่อข่าว จากสื่อมวลชนต่าง ๆ มาถามปัญหา เกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย และมีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งได้ถวายหนังสือ ชื่อว่า "เจาะลึกวัดพระธรรมกาย ข้อมูลที่ไม่ เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน ลับสุดยอด" ต่อมาได้เปิดอ่านดูบ้างบางส่วน และในตอนที่ว่าด้วยคำถามคำตอบที่น่าสน ใจ เมื่อพลิกดูผ่านๆ ไปจนจบ ปรากฏว่า 2 ข้อสุดท้ายเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา และ เรื่องธรรมกายในข้อเกี่ยวกับนิพพานนั้นตั้งเป็นคำถามว่า "มีการถกเถียงกันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไม่ทราบจริง ๆ เป็นอย่างไร?" และข้อสุดท้ายว่า "ธรรมกาย มีในพระไตรปิฎกหรือไม่?" สองข้อนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการ หรือหลักธรรมสำคัญ ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วย เรื่อง นิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา เมื่ออ่านดูลักษณะการเขียนคำตอบเป็นไปในเชิงที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความ เข้าใจไปว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องนิพพานนั้น ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ยังหาข้อสรุป ไม่ได้ เป็นเรื่องของความคิดเห็น การเขียนเช่นนี้ถือได้ว่าถึงขั้นที่จ้วงจาบต่อพระธรรมวินัย เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นเอกสารซึ่งจะคงอยู่ยาวนาน อาจก่อผลกว้างไกล จึงสมควรรีบชี้แจงไว้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูก ต้อง ต่อมาอีก 2-3 วัน ก็มีพระนำเอาหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันพุธ ที่ 13 มกราคม 2542 มาให้ดู โดยเฉพาะหน้า 12 "สุขสรรค์" มีบทความเรื่อง "สายตรงจากธรรมกาย นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา" โดย พระ สมชาย ฐานวุฑฺโฒ บทความนี้เมื่ออ่านแล้วจะยิ่งสร้างความสับสนต่อหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ กล่าวมานั้นยิ่งขึ้น อีก 2-3 วันต่อมาก็มีรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2542 กล่าวถึงอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกาย ได้กล่าวถึง ปัญหาบางอย่างที่จะต้องแก้ไข ตอนหนึ่งได้กล่าวว่า "เรื่องนิพพานเป็นความคิดที่หลากหลาย" การที่ท่านกล่าว อย่างนี้ จะเป็นผลจากการเผยแพร่เอกสารของวัดพระธรรมกาย หรือไม่ก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง ที่พูดนี้มิใช่จะว่ากล่าวข้าราชการผู้นั้น เพราะท่านไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่คำพูดนั้นเท่ากับเป็นสัญญาณเตือน ภัยว่า อันตรายที่ร้ายแรงกำลังเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา เพราะความสับสนหรือเข้าใจผิดต่อหลักการสำคัญของ พระพุทธศาสนากำลังแผ่ขยายออกไปในหมู่ประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่ความสั่นคลอนของพระพุทธศาสนาถึงขั้น รากฐานเลยทีเดียว ที่จริงนั้น หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามีความชัดเจน แน่นอน และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความ คิดเห็น แต่เป็นเรื่องของหลักฐานที่ชาวพุทธถือกันว่ามาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง คือมาในพระไตรปิฎก และมี คัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น อธิบายประกอบ ซึ่งชาวพุทธทุกยุคสมัย ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา เป็นหลัก สำคัญที่สุด และได้เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ให้ แม่นยำ ด้วยการทรงจำ ศึกษาเล่าเรียน และมีการ สังคายนาเป็นงานใหญ่หลายยุคสมัยตลอดมา เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นแก่พระศาสนา ชาวพุทธก็ควรตื่นตัวขึ้นมา ช่วยกันขจัดภัยและปกป้องรักษา พระศาสนาไว้ อย่างน้อยก็ใช้เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษา สร้างเสริม หรือแม้แต่ชำระ สะสางความรู้้ความเข้าใจใน พระศาสนาที่ตนนับถือ ทำความเห็นให้ถูกต้อง ให้ได้ชื่อว่าสามารถถือเอาประโยชน์จากสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามา และผ่านพ้นปัญหาไปอย่างได้ปัญญา ในการชี้แจงต่อไปนี้ จำเป็นต้องพูดพาดพิง ถ้าข้อความที่กล่าวจะเป็นเหตุให้ท่านผู้เกี่ยวข้องไม่สบายใจ ก็ขออภัยไว้ก่อน แต่ขอให้ตั้งใจร่วมกันว่า เราจะทำการนี้เพื่อดำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษได้รักษาสืบต่อตกทอดกันมาจนถึงเรา โดยอาศัยกำลังความ เพียรพยายาม เรี่ยวแรง ความอุตสาหะและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง มิให้สูญเสียไป และเพื่อให้ประชาชนทั้งในบัดนี้ และเบื้องหน้า ยังสามารถได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากพระพุทธศาสนา คือ มุ่งเพื่อรักษาพระธรรมวินัยและ ประโยชน์สุขของประชาชน