พระผู้ใหญ่ชี้ประเด็นธรรมกาย
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 8 ธค. 41

จากกรณีปัญหาวัดพระธรรมกาย ที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้อง ทั้งในแง่การปฏิบัติการเรี่ยไร และการก่อสร้างศาสนวัตถุต่างๆ กระทั่งมหาเถรสมาคม ต้องยื่นมือเข้ามาตรวจสอบ โดยล่าสุดทางวัดพระธรรมกาย กำลังรวบรวมรายชื่อญาติโยม ที่สนับสนุนในการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อเสนอต่อมหาเถรสมาคมให้พิจารณา

ขณะที่เหล่านักวิชาการด้านศาสนาก็ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง กล่าวถึงความคืบหน้า กรณีที่มหาเถรสมาคมมีมติให้เจ้าคณะภาค 1 ดำเนินการหาข้อเท็จจริงเรื่องวัดพระธรรมกายว่า

ยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งเป็นไปได้ว่า ท่านอาจจะรอให้มีการรับรองรายงานผลการประชุม ในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค. นี้ก่อน เพื่อที่จะได้รับคำสั่งแบบเป็นทางการ และเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น เวลานี้ไม่อยากออกความเห็น เพราะยังไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ส่วนการก่อสร้างศาสนวัตถุขนาดใหญ่นั้น ถ้ามีเงิน จะสร้างให้ใหญ่กว่าที่ทำ แต่จะไม่เรี่ยไรใครสักบาท เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า การดึงศรัทธาคนนั้น ต้องให้เหมือนภมรยามดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ที่ไม่เคยทำให้ดอกไม้ได้รับความบอบช้ำ

การก่อสร้างขนาดใหญ่เวลานี้ทำได้ไม่ผิด แต่ในอนาคตไม่แน่ใจ เพราะกำลังมีกฎกระทรวง เรื่องการควบคุมการก่อสร้างขนาดใหญ่ จะออกมามีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ แม้การก่อสร้างจะไม่ผิดก็ตาม ที่สำคัญต้องไม่เรี่ยไร เพราะผิดทั้งกฎมหาเถรสมาคมและกฎหมายบ้านเมือง และพระพุทธเจ้าก็ห้ามไว้

ด้านพระมหาเจิม สุวโจ ผอ.สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า ธรรมชาติของทุกศาสนา จะมีรูปแบบในการแบ่งแยก แบ่งเป็นนิกายตามการตีความของผู้ปฏิบัติ ทั้งกลุ่มเก่าและใหม่

แนวทางที่นำไปสู่การตีความมาจากวิถีชีวิตการบูรณาการทางสังคม จนเกิดรูปแบบขึ้นใหม่ ที่สอดคล้องกับกลุ่มตัวเอง เรียกว่าวิถีในเชิงพัฒนา แม้สมัยพุทธกาล หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใหม่ๆ ก็เกิดมีการตีความหลักคำสอน ตามแนวทางของแต่ละหมู่ ส่วนกรณีการตีความตามหลักคำสอนพระธรรมกาย ถือเป็นสิ่งที่ค้นพบในหนังสือ แต่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พุทธ จึงไม่เหมือนหลักความเชื่อในสายเถรวาทโดยทั่วไป แม้ไม่ถือเป็นข้อผิด แต่การที่สื่อออกมาสะท้อนภาพ ก็ถือเป็นประโยชน์ในแง่ของการแสดง ให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนการแก้ปัญหานี้ อยากเรียกร้องให้มีการสังคายนา หลักคำสอนทั้งหมดในประเทศ เพื่อหารูปแบบให้อยู่ในจุดกึ่งกลาง เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของบ้านเมืองต่อไป

โดยภาครัฐน่าจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่น่าจะปัดความรับผิดชอบไปที่มหาเถรสมาคมอย่างเดียว โดยตีความตามหลักการแล้ว ต้องกำหนดวิธีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักพุทธ เพราะหากปล่อยไว้แต่ละกลุ่มก็จะเติบโตสร้างบารมีสู้กันไปเรื่อยๆ จนยากจะจัดให้เข้าอยู่ในรูปรอยเดียวกัน

-----------------------------------------------------------------------------------------------
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ
วันที่ 8 ธันวาคม 2541