ตามรอยหลวงพ่อสด
ต้นธารวิชชาธรรมกาย
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ หรือ พระมงคลเทพมุนี อันเป็นสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ.2500 ได้ชื่อว่าเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่งของเมืองไทย
ยามที่หลวงพ่อสดยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ปฏิบัติธรรมในทางวิปัสนา จนค้นพบหลักปฏิบัติด้านกรรมฐาน เรียกว่า "วิชชาธรรมกาย" และนำมาเผยแพร่ต่อพระ เณร อุบาสก และอุบาสิกา ได้ปฏิบัติตาม
แม้ท่านจะมรณภาพมาเป็นเวลานานถึง 38 ปีแล้ว "วิชชาธรรมกาย" ของท่าน ยังได้รับการสืบทอดกันมา "วัดพระธรรมกาย" ก็เป็นอีกวัดหนึ่ง ที่อ้างวิชชาธรรมกายมาอบรมสั่งสอนญาติธรรม แต่น่าแปลก ที่แนวทางการสั่งสอนตามเอกสาร ที่วัดธรรมกายเผยแพร่อย่างต่อเนื่องนั้น กลับเน้น แต่เรื่องการทำบุญให้หมดตัว แลกกับการจะได้ไปสวรรค์
ธรรมกายตามแนววัดธรรมกายที่ว่านี้ พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ผู้อำนวยการกองปฏิบัติศาสนกิจในประเทศ และผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิตมหาจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย และ พระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว บอกว่า เกิดจากวัดธรรมกาย กำลังหลงประเด็น ปล่อยให้นักธุรกิจวางแผนการทำบุญถึงขนาดขายหุ้น ขายบุญผ่อนส่งหรือการดาวน์บุญ ซึ่งไม่เคยมีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญและวิชชาธรรมกายมีที่มาที่ไปอย่างไร เรื่องนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถร) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผู้เป็นทั้งหลานและลูกศิษย์ของหลวงพ่อสด ได้บันทึกประวัติไว้ว่า หลวงพ่อสดมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2527 แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก รศ.1246 ณ บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คนคือ 1.นางดา เจริญเรือง 2.หลวงพ่อสด 3.นายใส 4.นายผูก 5.นายสำรวย
สด มีแก้วน้อย อุปสมบทเมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2499 ขณะมีอายุย่างเข้า 22 ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร หลังจากที่ศึกษาพระปริยัติธรรม จนมีความแตกฉานในภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฏกเป็นอย่างดี แล้วท่านจึงหันมาศึกษาทางด้านวิปัสนากรรมฐาน โดยฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์ โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ ผู้เป็นพระอนุศาสนาจารย์ พระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย)วัดจักรวรรดิราชาวาส พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร จ.สุพรรณบุรี พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม พระครูญาณวิรัติ (โป๊ะ) วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
พระอาจารย์ที่กล่าวมานี้ ทรงคุณวิเศษทางธรรมปฏิบัติ เป็นเยี่ยมทางปริยัติ งามทั้งศีลาจารวัตร มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย พระภิกษุสด หรือในระยะต่อมาคือ หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็เรียนจนหมดสิ้นความรู้ของครูอาจารย์ทุกสำนัก
มีต่อไปอีกไหมครับ...!! คำถามนี้เกิดขึ้นภายหลังจากบรรลุผลสำเร็จตามขั้นสูงสุด ของแต่ละสำนักกรรมฐาน เมื่อทำได้อย่างครูบาอาจารย์แล้ว มักจะถามเช่นนี้ แต่ทุกคำตอบที่ได้รับ มีทำนองคล้ายกัน
"หมดแล้ว เธอเรียนจนหมดความรู้ของฉันที่สู้ศึกษามานาน ต่อไปนี้มาช่วยฉันสอนศิษย์กันต่อไปเถอะ..." พระอาจารย์กล่าว
แต่หลวงพ่อสดมีความเชื่อว่า วิชากัมมัฎฐานที่ร่ำเรียนมาจากครูอาจารย์นานถึง 11 พรรษานั้นยังน้อยนิดนัก ไม่อาจไปสอนใครๆได้ และควรจะมีทางที่ตรงกว่านี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ในที่สุดท่านก็หันกลับมาเรียนด้วยตนเอง โดยศึกษาจากตำรา "วิสุทธิมรรค" อันเป็นแบบฉบับของ การปฏิบัติธรรมแนวทางธรรมกาย ตราบกระทั่งท่านมาจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
บันทึกประวัติของท่านตรงนี้ น.ส.ตรีธา เนียมขำ นายกสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำเล่าว่า ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เป็นวันที่หลวงพ่อลงโบสถ์บำเพ็ญกัมมัฎฐาน จนค้นพบเคล็ด "วิชชาธรรมกาย"
ธรรมอันนี้ สมเด็จพระสังฆาราช ปุ่น ปุณณศิริมหาเถร และลูกศิษย์บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า วิชาความรู้ทางวิปัสนาแบบ "ธรรมกาย" นั้น หลวงพ่อสดมิได้เป็นผู้บัญญัติขึ้นเอง แต่มีคำนี้อยู่แล้วในพระไตรปิฎกซึ่งได้อธิบายคำว่า "ธรรมกาย" ไว้ดังนี้
...พระสิทธิธัตถะทรงกระทำความเพียรอยู่ถึง 6 พรรษา จึงพบรัตนะอันลี้ลับซับซ้อนอยู่ในองค์พระคือ ธรรมกาย มีสัณฐานเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม มีสีใสเหมือนกระจก ปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกาย ที่ว่านี้ มีหลักฐานอยู่ในอัคคัญญสูตร ที่พระองค์ตรัสแก่วาเสฎฐสามเณรว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นเรา คือตถาคตนั่นเอง มิใช่อื่นไกล หรือพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ว่า ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ว่านี้ ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ใดเห็นธรรมกายผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า....!!!
เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อปี พ.ศ.2459 การเผยแพร่วิชาธรรมกายตามแนวทางของหลวงพ่อ ในยุคแรกๆ ถูกคัดค้านต่อต้านมากมาย บางรายถึงกับกล่าวหาว่า ท่านอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นข้อหาร้ายแรง เพราะตามวินัยสงฆ์ ถือว่าการอวดอุตริมนุสสธรรมนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งของ "ปราชิก" มีอันต้องให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุได้ เพราะในสมัยนั้น ไม่มีผู้ใดสั่งสอนการปฏิบัติแบบนี้ การส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ ก็เป็นด้านปริยัติเพียงด้านเดียว พระที่สนใจการปฏิบัติ ก็มักจะหลีกเร้นไปแสวงหาที่สงบสงัด เพื่อบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาลำเนาไพร
หลวงพ่อสด จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกที่กล้าสอนการปฏิบัติธรรมอย่างเปิดเผย จึงเป็นที่เพ่งเล็งและเป็นเป้าให้คนโจมตี ผู้คัดค้านมีทั้งฆารวาสและพระภิกษุ แต่หลวงพ่อท่าน ก็มิได้ครั่นคร้ามหรือย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ท่านมีคติพจน์ของท่านว่า
"ดอกไม้ที่หอมไม่ต้องเอาน้ำหอมมาพรม ก็หอมเองใครจะห้ามไม่ได้ ซากศพไม่ต้องเอาของเหม็นมาละเลงใส่ซากศพ ก็ต้องแสดงกลิ่นศพให้ปรากฏปิดกันไม่ได้..."
หลวงพ่อสดไม่เพียงจะอุทิศชีวิต เพื่อสืบต่ออายุพระบวรพุทธศาสนาเท่านั้น หากยังเป็นพระนักพัฒนาอีกด้วย โดยท่านได้จัดสร้างศาสนสมบัติไว้มากมาย เงินทองที่ได้มาจากการบริจาคทรัพย์ของ บรรดาศิษยานุศิษย์ และประชาชนผู้มีความเคารพนับถือ ท่านมิได้เอ่ยปากเรี่ยไรเลย ทุกคนยินดีทำบุญกับหลวงพ่อคนละมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังศรัทธา
พร้อมกับสอนพระภิกษุ สามเณรให้ยินดีปัจจัยตามมีตามได้ ได้อย่างไรยินดีอย่างนั้น ไม่ทำให้ผู้เลี้ยงหรือฆารวาสเดือดร้อน ส่วนศิษย์ฆารวาส ท่านก็สอนให้รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ ให้เป็นให้กินอยู่อย่างประหยัด อยู่ตามอัตภาพ เพราะท่านทราบดีว่า ทรัพย์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ครองเรือน ทุกคนต้องประกอบอาชีพการงานอย่างหนักลำบากยากเข็ญ เพราะต้องการทรัพย์มาจับจ่ายใช้สอยบำรุงตน และครอบครัวให้มีฐานะมีความเป็นอยู่สะดวกสบาย
การทำบุญทำกุศลของฆารวาสนั้น หลวงพ่อท่านสอนว่า ทานนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำอย่างยิ่ง แต่ต้องไม่มุ่งหวังสิ่งใด ถ้าหวังผลตอบแทนว่าตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรค์ อย่างนี้ถือว่าไม่เป็นทาน และการทำบุญต้องดูกำลังของตนเอง อย่าใช้เงินทองเป็๋นตัววัดบุญ แม้ไม่บริจาคทรัพย์แต่ช่วยแรงก็ได้บุญเช่นกัน
ด้านการจัดสร้างวัตถุมงคล ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่จัดพิมพ์พระผงขึ้น 3 รุ่นๆละ 84,000 องค์ เป็นรูปองค์พระปางพระทานพร ท่านตั้งชื่อว่า "พระของขวัญ" สร้างครั้งแรกปี พ.ศ. 2493 เพื่อตอบแทนแก่ ผู้ที่ร่วมบริจาคทรัพย์สร้าง โรงเรียนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป ส่วนรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 แจกจ่ายให้แก่ญาติโยมที่มีจิตศรัทธาต่อวิชาธรรมกายทั่วไป
หลวงพ่อสดมรณภาพเมื่อวันที่ 3 กุมพาพันธุ์ 2502 และแม้ว่าดวงประทีปของท่าน จะล่วงลับไปหลายสิบปีแล้ว แต่วิชชาธรรมกายของท่าน ก็ยังมีผู้ปฏิบัติสืบทอดกันมาด้วยความเคารพศรัทธา
น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่วิชชาธรรมกายของท่านมีบางกลุ่ม บางพวกเอามาทำให้ "กลาย" จนเป็นการ "โกย" อย่างหน้ามืดตามัว!!
ห่างจากหลักธรรมคำสอนของหลวงพ่อสดยิ่งนัก... ---------------

LE FastCounter