อดีตธรรมกายจี้สอบโครงการบัณฑิตนคร

อดีตพระแกนนำวัดธรรมกายจี้สอบข้อมูลโครงการจัดสรรที่ดิน "บัณฑิตนคร" ที่วัดธรรมกายเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นโครงการแรก มีสีกาคนสนิทไปกว้านซื้อผ่าน 2 บริษัทธุรกิจในเครือของวัด จากชาวบ้าน 390 ไร่ ราคาถูก ๆ แค่ไร่ละหมื่น แต่เอามาจัดสรรขายให้กับลูกศิษย์วัดไร่ละหลายแสน บางแปลงกดเป็นล้าน แต่จนแล้วจนรอดก็กลายเป็นโครงการรกร้างว่างเปล่า ชาวบ้านระบุช่วงแรกมีเฮลิคอปเตอร์มาลง มีพระ-แม่ชีลงมาดูที่ดินด้วย

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในวัดพระธรรมกายค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากเป็นวันสิ้นปี อย่างไรก็ตามในช่วงปีใหม่นี้ทางวัดได้จัดให้มีการนั่งสมาธิธุดงค์ปีใหม่ในบริเวณธรรมกายสภาสากลระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.2541 ถึงวันที่ 2 ม.ค. 2542
ตามเป้าหมายวัดพระธรรมกายจะระดมศิษย์มาให้มากนับหมื่นคนทั่วประเทศเข้ามาในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยในวันที่ 1 ม.ค.เป็นงานสำคัญของวัด โดยใครที่มาปักกลดนั่งสมาธิต้องเสียค่ากลด 150-200 บาท ส่วนอาหารรับประทานฟรีวันละ 2 มือ แล้วแต่ใครจะบริจาค ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้จะเป็นการวัดกระแสความศรัทธาของวัดด้วย โดยเฉพาะวัดพระธรรมกายต้องการให้คนที่ทำบุญสร้างพระธรรมกายประจำตัวแล้วเข้ามาวัด เพื่อยืนยันศรัทธาเดิมและไม่ต้องมีปัญหาการเรียกร้องขอเงินคืน
ทางด้านพระอดิศักดิ์ วิริยสโก อดีตพระแกนนำวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า ปัญหาของวัดก็คือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจโดยเฉพาะการจัดสรรที่ดิน ซึ่งมีการนำกลุ่มกัลยาณมิตรมาเป็นผู้ขาย และขายให้กับลูกศิษย์วัด
สำหรับโครงการแรกที่วัดกระโดดเข้ามาเกี่ยวข้องคือโครงการบัณฑิตนคร ตรงถนนพหลโยธิน โดยเดิมทีจะทำในลักษณะของเมืองมหาวิทยาลัยครบวงจร และมีการจัดสรรที่ดินขายด้วย แต่ไป ๆมา ๆ ปรากฎว่าโครงการก็ไม่เกิดขึ้นและล้มพับไปในที่สุด
ขณะเดียวกันทางด้านพระผู้ใหญ่ซึ่งเคยบวชอยู่ที่วัดพระธรรมกายอีกรูป เปิดเผยว่า ธุรกิจทางด้านที่ดินที่เกี่ยวกับวัดครั้งแรกคือโครงการบัณฑิตนคร โดยมีการซื้อที่ดินจาก ชาวบ้านตรงประตูน้ำพระอินทร์ หลายร้อยไร่ในราคาไร่ละ 16,000-20,000 บาท จากนั้นก็มีการกล่าวอ้างประชาสัมพันธ์กับศานุศิษย์-ญาติโยมที่เข้าวัดพระธรรมกายว่า โครงการบัณฑิตนครนี้ ต้องการสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่และเป็นที่ชุมนุมธรรม โดยมีชื่อสีกาอี๊ด เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแล มีการตัดขายที่ดินเป็นแปลงๆ ในราคาแปลงละ 500,000-600,000 บาทต่อไร่ ซึ่งก็ขายดิบขายดี
จากนั้นได้มีการซื้อที่ดินมากขึ้นและตัดขาย อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ก็พลิกผันในช่วงที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ราคาที่ดินได้พุ่งสูงขึ้น ทำให้มีการขอซื้อที่ดินคืน อีกครั้ง โดยกล่าวว่าต้องการขยายที่ปฏิบัติธรรมของวัดและสร้างสาธารณูปโภคให้กับศานุศิษย์ แต่ครั้งนี้เมื่อซื้อกลับมาแล้วก็ตัดขายที่ดินเป็นแปลงๆ เช่นเดิม แต่ราคาแพงขึ้นแปลงละ 2,000,000 ล้านบาท ก็ขายดี ขายเกลี้ยงไม่เหลือ
"การนำเงินไปลงทุนในโครงการนี้งน่าจะเข้าไปสอบสวน เพราะมีลูกศิษย์วัดหลายคนไปซื้อไว้ แต่จนถึงป่านนี้ยังไม่มีการทำอะไรเลย"
ผู้สื่อข่าวเขัาไปสำรวจที่ดินดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่ ที่หมู่ 5 ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.อยุธยา ปรากฎว่ามีการขึ้นป้ายบนที่ดินดังกล่าวว่าเป็นโครงการยูนิเวอร์ซิตี้ โดยมีบริษัทยูทาวน์เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมกับด้านล่างของป้ายยังมีป้ายผ้าเชิญชวนให้ทำบุญกับวัดพระธรรมกายติดอยู่ด้วย
ที่ดินนี้มีการสร้างตึกสูง 5 ชั้น แต่ยังไม่ปรากฎการพัฒนาที่ดินด้านอื่น ๆ โดยชาวบานที่ขายที่ดินให้บริเวณทีก่อสร้างระบุว่าเดิมทีมีนายกิมตี่ ร้านอมรพันธ์ ตลาดประตูน้ำพระอินทร์ มาติดต่อรวบรวมที่ดินบริเวณนี้ ในลักษณะแลกเปลี่ยนไร่ต่อไร่จำนวน 21 ครอบครัว บางส่วนก็ขายให้เลยราคาไร่ละ 1 หมื่นบาท และน่าสงสัยเช่นกันว่าจะมีพระมาเกี่ยวข้องเพราะในช่วงที่มีการจัดสรรทีดิ่นและสร้างอาคาร 5 ชั้นมีเฮลิคอปเตอร์มาลงบ่อย ๆมีคนใส่ชุดสีขาวคล้ายแม่ชีและนักบวชมาเดินดูที่ด้วย
เดิมทีบริษัทที่เข้ามารวบรวมที่ดินคือบริษัทดูแวค แต่ล่าสุดทราบว่ามีการขายผ่านมือไป และเกิดปัญหาจนกลายเป็นที่รกร้างยังไม่ได้พัฒนา
นายบัวเขียว แขวนทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.เชียงรากน้อย ซึ่งดูแลพื้นที่ดังกล่าวเปิดเผยว่า ที่ดินบริเวณ โครงการมีเนื้อที่ 390 ไร่ถูกไล่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2529 ราคาเฉลี่ยไร่ละ 1-6 หมื่นบาท ล่าสุดซื้อถึง 1 แสนบาท คนที่มาซื้อคือนางจีรวัฒน์หรือสีกาอี๊ด ซึ่งซื้อในนามบริษัทดูแวค และบริษัทบัวบานการเกษตร โดยการซื้อจะตั้งตัวแทนหลายคนจากบริษัทมาดำเนินการ จนถึงการจัดสรรแบ่งเป็นแปลง ๆ แต่ภายหลังการก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นที่เรียกว่าอาคารบัณฑิตนครแล้ว ไม่ปรากฎเงาของนางจีรวัฒน์อีกเลย จะมีเพียงนางเสาวณีย์ มาดูแลในนามของบริษัทยูทาวน์ และขึ้นโครงการใหม่เป็นยูนิเวอร์ซิตี้ วิลเลจ โดยนางเสาวณีย์จะเก็บตัวเงียบในตีกเพียงคนเดียว ตึกที่สร้างก็ทิ้งรกร้างเป็นเวลานับสิบปีแล้วแต่ไม่มีท่าทีว่าจะสร้างอะไรเพิ่มเติม
สำหรับโครงการจัดสรรที่ดินที่เกี่ยวกับวัดนี้ในรายงานวิจัย "ศาสนาทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย" ของดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับทุนจากศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าบริษัทดูแวค และบริษัทบัวบานการเกษตรเป็นธุรกิจในเครือวัดพระธรรมกาย รวมถึงในปี 2533 ที่ธุรกิจที่ดินเฟื่องฟูมูลนิธิพระธรรมกายถึงกับกระโดดมาทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เองในชื่อโครงการตะวันธรรมตะวันทอง ซึ่งพื้นที่โครงการไม่อยู่ไกลจากวัด และมีการแจกแผ่นพับใบปลิว มีการประชุมแกนนำกลุ่มกัลยาณมิตรเพื่อโฆษณาโครงการนี้ โดยโฆษณาจะใช้ภาพของการสร้างชุมชนวัดสมัยใหม่ และการอุดหนุนโครงการยังเป็นการทำบุญทางอ้อมด้วยเพราะรายได้จากโครงการวัดจะนำไปใช้ในกิจการเผยแผ่ หลังจากนั้นมีโครงการที่ดินอื่น ๆตามมา บางโครงการไม่ใช่ของวัดโดยตรงแต่เป็นโครงการของสมาชิกระดับนำ