news4
ให้สอบบริษัทพัวพันวัดธรรมกาย

สั่งสอบบริษัทธุรกิจ"สีกาอี๊ด"ส่อเค้าเกี่ยวพันวัดพระธรรมกาาย ที่อาจโยงใยกัน เตรียมให้อธิบดีกรมที่ดินตรวจโฉนดทั่วประเทศที่พระผู้ใหญ่ในวัดไปกว้านซื้อ สะสางโยงใยธุรกิจ เค้นหาเงินไหลเข้า-ออกเกี่ยวพันกับใคร ก่อนเสนอมหาเถรฯ ตัดสิน ตั้งประเด็นถ้าเอาเงินไปใช้ผิดประเภทมีสิทธิติดคุก เผยบรรยากาศภายในวัดเริ่มเงียบเหงา แถมมียามดูแลเพิ่มมากขึ้น ระบุยังมีผู้มาติดต่อขอเงินคืนเช่นเดิม สามล้อสงขลาเจอพิษธรรมกาย ถีบรถรับคนเท่าไหร่เมียเอาไปทำบุญหมด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยมี นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี พรรคความหวังใหม่ ประธาน คณะกรรมาธิการฯเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องปัญหาวัดพระธรรมกายตามที่มีผู้ยื่นญัตติมา ซึ่งได้เชิญนายยุทธชัย อุตมะ รองอธิบดีกรมการศาสนาและ นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์มาให้ข้อมูล การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุมนายเด่นกล่าวว่า รองอธิบดีกรมการศาสนาได้ชี้แจงในเรื่องหลักคำสอนของวัดพระธรรมกายว่าขณะนี้ทางกรมการศาสนากำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ว่าผิดหลักพุทธศาสนาหรือไม่ โดยได้มีการนำตำราจำนวน 111 เล่มที่รวบรวมไว้มาประกอบการพิจารณา ส่วนเรื่องที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายถือครองที่ดินในโฉนดที่ดินที่เป็นของวัดนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทั้งนี้รองอธิบดีกรมการศาสนาระบุว่านายอาคม เอ่งฉ้วน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความเป็นห่วงมาก จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาอีก 1 ชุดเป็นการส่วนตัวเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในอีกทางหนึ่ง
ด้านนายอรรถสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคความหวังใหม่ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯกล่าวว่า นายเสฐียรพงษ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม 2 แนวทางเพื่อให้คณะกรรมา ธิการฯได้นำไปศึกษาต่อไปคือ 1. หลักปฏิบัติของวัดพระธรรมกายที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้บิดเบือนไปจากหลักของพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะมีบางอย่างที่ปฏิบัติเป็นสิ่งน่าห่วงใยว่าจะไม่ตรงกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา 2.การระดมทุนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆของวัด โดยไม่มีการแถลงที่ชัดเจนว่านำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ทำอะไรบ้าง และใครเป็นผู้ดูแล ซึ่งทั้ง 2 ข้อสังเกตนี้กรรมา ธิการฯ ได้ฝากให้กรมการศาสนาไปตรวจสอบและแก้ไขต่อไป
นายอรรถสิทธิ์กล่าวว่า ในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 ม.ค. 2542 ทางกรรมาธิการฯ จะได้เชิญ นายนรวัฒน์ สุวรรณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูลกรณีที่วัดพระธรรมกายมีการดำเนินการในรูปแบบธุรกิจจดทะเบียนบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัท เพื่อทราบการเข้า-ออกของเงินในบริษัทเหล่านี้ว่ามีการดำเนินการอย่างไรมีใครเป็นผู้ถือหุ้นบ้าง รวมทั้งจะเชิญนายวิเชียร รัตนพีรพงษ์ อธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย มาให้ข้อมูลกรณีที่มีการใช้ชื่อของพระผู้ใหญ่บางรูปในวัดพระธรรมกายในเรื่องโฉนดที่ดิน
"วัดเป็นนิติบุคคล ทำไมถึงไม่ใส่ชื่อวัดในโฉนดที่ดินเหล่านั้น หากว่าจะนำมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของวัด นอกจากนี้เรายังจะเชิญตัวแทนของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม จะได้ทราบว่าได้ศึกษาเรื่องนี้ไปอย่างไรบ้างแล้ว จากนั้นในสัปดาห์ต่อไปก็จะเชิญตัวแทนของวัดพระธรรมกายมาชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย"
นายอำนวย สุวรรณคีรี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ต้องทำเรื่องการถือครองที่ดินของวัดให้ชัดเจน เพราะไม่ควรใส่ชื่อพระผู้ใหญ่ในโฉนดที่ดิน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้บริจาคด้วย และสิ่งที่อยากให้เกิดความชัดเจนที่สุดอีกเรื่องก็คือเรื่องของการตั้งบริษัทเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีอยู่หลายบริษัท วัดนี้มีนักธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบจากกรมทะเบียนการค้าอีกครั้ง
รายงานข่าวจากคณะกรรมาธิการการศาสนาเปิดเผยเพิ่มเติมว่านายเสฐียรพงษ์เสนอปัญหาวัดพระธรรมกายในประเด็นเรื่องคำสอนของวัดผิดเพี้ยนหลักศาสนานั้นได้มีการยกคำสอนของวัดพระธรรมกายที่ว่าการภาวนาและบรรลุธรรมนั้นจะต้องนั่งเพ่งจนเห็นพระพุทธรูป และถ้าเพ่งให้พระพุทธรูปขยายใหญ่ขึ้นเท่าใดก็บรรลุธรรมสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าแน่หรือ นอกจากนั้นยังมีการสอนว่านิพพานเป็นสถานที่ และมีพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ไปอยู่รวมกันนั้นมีจริงหรือไม่ในศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่วัดพระธรรมกายมีวิธีการสอนคนว่าถ้าให้เจ้าอาวาสคือพระธัมมฺชโย "อัด" วิชชาธรรมกายให้ แม้ว่าจะไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็สามารถบรรลุธรรมได้ ซึ่งมีการนำคนมากมายไป "อัด" วิชากัน
นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงหลวงพ่อสด จันทฺสโร หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้คิดค้นวิชชาธรรมกายด้วยว่าในช่วงปลายชีวิต ได้พบการสอนดังกล่าวไม่ถูกต้อง และตีบตัน ไม่ก้าวหน้า จนต้องไปขอให้อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา วัดมหาธาตุ ช่วยแก้ไขให้ และก็มีลายมือของหลวงพ่อสดที่ให้ไว้เป็นหลักฐานว่าการปฏิบัติกรรมฐานของวัดมหาธาตุถูกต้องตามหลักที่สุด รวมถึงมีข้อมูลไม่ยืนยันว่าหลวงพ่อสดก็รู้ว่าการปฏิบัติไม่ถูกแต่ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะมีผู้เชื่อถือมาก แต่หลวงพ่อสดถือเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะต้องการหลุดพ้น และไม่ได้มีผลประโยชน์ใด ๆ ในชีวิต
วัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายก็ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากพระธัมมฺชโย ไม่ได้เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อสด แต่เป็นลูกศิษย์แม่ชีจันทร์ ซึ่งแม่ชีจันทร์ก็ไปเรียนวิชชามาจากแม่ชีอีกรูป แต่วัดพระธรรมกายพยายามดึงเอาหลวงพ่อสดมาเกี่ยวข้อง และทำให้เกิดจุดขาย โดยให้คนนั่งเพ่งลูกแก้ว และเข้าใจว่าบรรลุธรรมแล้ว ทำให้กิดการทำบุญ และการขายบุญ
จุดที่สำคัญอีกประการคือวัดพระธรรมกายจัดทำโครงการอภิญญาแรกแย้ม โดยนำเด็กสาววัยรุ่นมาปฏิบัติธรรม และพรากจากพ่อแม่เด็ก โดยไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งถูกต้องหรือไม่ตามหลักมนุษยธรรม และเอาไปรับเป็นบุตรบุญธรรมถือว่าขัดกับกฎของมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระรับบุตรบุญธรรม
ส่วนเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัดมีทั้งเรื่องการซื้อที่ดิน การทำธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำโครงการเช่นหล่อพระทองคำหลวงพ่อสดหนัก 1 ตัน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ถึง ซึ่งกรรมาธิการฯ สามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้เช่นการสอบโฉนดที่ดินทั้งหมดและบริษัทธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยว ข้อง รวมถึงต้องพิจารณาฐานะของเจ้าอาวาสด้วยว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ และถ้าทำผิดเช่นเอาเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้หรือไม่ โดยเงินที่บริจาคต้องมีวัตถุประสงค์ การใช้จ่ายโดยเฉพาะถ้าเป็นมูลนิธิ
"กรรมาธิการฯ สนใจเรื่องดังกล่าว และจะมีการสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเสนอให้มหา เถรสมาคมต่อไป เนื่องจากมหาเถรสมาคมคงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้ เหมือนกับกรณีพระยันตระ ที่แรก ๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ แต่เมื่อมีการหาข้อมูลเสนอมหาเถรสมาคมจนกระจ่าง ก็สามารถดำเนินการได้"
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่านายเสฐียรพงษ์ได้มอบเอกสารให้กรรมาธิการฯ เป็นรายชื่อบริษัท ต่าง ๆ ที่สีกาอี๊ดมีชื่อถือหุ้นในฐานะกรรมการบริษัทให้พิจารณาตรวจสอบด้วย โดยที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าสีกาอี๊ดผู้นี้เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระธัมมฺชโย และมีธุรกิจหลายประเภททำให้เกิดข้อสงสัยอาจเป็นเครือข่ายของวัดเพื่อระดมทุน
สำหรับธุรกิจที่สีกาอี๊ดเป็นกรรมการเท่าที่ตรวจพบในธุรกิจที่ดินตั้งที่ จ.เชียงใหม่ ที่เหลืออยู่กรุงเทพฯ และทำธุรกิจขายเครื่องใช้บุรุษและสตรี
ธุรกิจอีกสายที่สงสัยมีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน มีทำธุรกิจค้าขายอัญมณีทั้งส่งออกและนำเข้า, ธุรกิจโรงรับจำนำ
นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่เป็นชื่อของพระธัมมฺชโยอีก 47 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา ที่ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์-โฉนดเลขที่ 5140
นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อ คณะกรรมการศึกษากรณีปัญหาของวัดพระธรรมกายจำนวน 19 คนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ และได้เสนอต่อนายสุรัฐ ศิลปอนันต์ ปลัดกระทรวงศึกษาฯเพื่อเสนอต่อไปยังนายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาฯลงนามแต่งตั้งต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง
นายสุวัฒน์กล่าวด้วยว่า ในวันเดียวกัน นี้มีเจ้าหน้าที่จากวัดพระธรรมกายจำนวน 4 คนเดินทางมาพบเพื่ออวยพรปีใหม่และได้สอบถามเกี่ยวกับข่าวของวัดพระธรรมกายในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็ได้บอกไปว่าทุกอย่างทำตามหน้าที่ที่ต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของสังคมต่อไป
ด้าน นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ ปลัดกระทรวงศึกษาฯ เปิดเผยว่า ได้รับรายชื่อคณะกรรมการฯจากนายสุวัฒน์แล้ว จากนี้ก็จะนำเสนอต่อนาย อาคมพิจารณาลงนามแต่งตั้งก่อนจะดำเนินการศึกษาข้อมูลและรายละเอียดกรณีของวัดพระธรรมกายต่อไป
ส่วนความเคลื่อนไหวที่วัดพระธรรมกายนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศของวัดค่อนข้างเงียบมีญาติธรรมเข้าไปทำบุญไม่ถึง 50 คน ซึ่งการเข้าออกวัดเวลานี้ค่อนข้างจะเข้มงวดกว่าที่ผ่านมา มียามรักษาการณ์มากขึ้นและมีการนำแผงกั้นมากั้นขวางไว้พร้อมกับมีข้อความว่า ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้จากการสังเกตการณ์พบว่า ยังมีญาติธรรมส่วนหนึ่งที่เคยบริจาคเงินทำบุญกับวัดพระธรรมกายได้มาขอรับเงินคืนด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ของวัดจะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ก็ตามที
ในวันเดียวกันที่จังหวัดสงขลา เมื่อเวลา 10.00 น. นายวิริยะ พร้อมพงศ์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96/77 หมู่ที่ 2 ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เข้ามาร้องทุกข์ที่ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคใต้ว่า ครอบครัวได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของวัดพระธรรมกาย จนทำให้เกิดความแตกแยกในครอบครัว
นายวิริยะกล่าวว่า มีอาชีพขับรถสามล้อ โดยมีภรรยาชื่อนางสิริพร อยู่กินกันมานานจนมีลูกด้วยกัน 3 คน ก่อนหน้านี้ครอบครัวมีความสุขมากเพราะต่างคนต่างช่วยกันทำงานหารายได้ กระทั่งสามารถผ่อนบ้านเดือนละ 5,000 บาทได้ ต่อมาไม่นานนางสิริพรก็ถูกชักชวนให้ไปทำบุญที่วัดพระธรรมกาย หลังจากนั้นนางสิริพรก็เดินทางไปทำบุญที่วัดนี้บ่อยครั้งขึ้นเฉพาะในปี 2541 เดินทางไปบริจาคเงินให้วัดถึง 7 ครั้ง ๆ ละ 10,000 บาท
"ผมพยายามเตือนหลายครั้งแต่นางสิริพรก็ไม่ฟัง บอกเพียงว่าทำบุญกับวัดนี้ต้องใช้เงินทำบุญให้มาก ๆ จะได้บุญเยอะ ๆ และเท่าที่ฟังทางโทรศัพท์เวลาที่เจ้าหน้าที่จากวัดพระธรรมกายโทรศัพท์มาหาก็จะได้ยินในเรื่องของการให้ไปหา สมาชิกมาเพิ่ม หลังจากนั้นก็มีปากเสียงกันรุนแรงเรื่อยมา จนที่สุดก็ได้ตกลงแยกทางกัน"
นายวิริยะกล่าวด้วยว่า ที่มาร้องเรียนครั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมรับทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบ ครัวตนเอง และต้องการให้ทราบด้วยว่าวัดพระ ธรรมกายมีวิธีหาเงินอย่างไร ทั้งยังไม่สนใจด้วยว่าการดำเนินการลักษณะนั้นจะทำให้ครอบครัวชาวบ้านเกิดความแตกแยก.