news3
แฉธรรมกายรุกป่า'อธิบดี' เต้น

ร้องวัดพระธรรมกายรุกที่ สวนป่ากรมป่าไม้ที่เชียงใหม่ แถมขออนุญาตอย่างถูกต้อง ในนาม "มูลนิธิศึกษาธรรมฯ" อ้างศึกษาค้นคว้าชีววิทยาและอบรมธรรมะ แต่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร ทั้งที่ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือ "ปลอดประสพ"เต้น ขอเวลา 2 วันตรวจสอบข้อเท็จจริง ยันไม่เคยมีรายงานมาก่อน กมธ.ศาสนา มีมติพิจารณาการดำเนินกิจกรรมของวัดแล้ว ชี้การโฆษณาบิดเบือน ต้องดูว่ามีประโยชน์ต่อพุทธศาสนาแค่ไหน มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐแนะนายกฯ เจรจาวัดพระธรรมกาย ขอเงินบริจาคกู้วิกฤตเศรษฐกิจแทนสร้างวัตถุ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า วัดพระธรรมกายได้เข้าไปสร้างสำนักปฏิบัติธรรม ภายในบริเวณสวนป่าบ่อหลวง ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่สวนป่าตามโครงการปลูกป่าของกรมป่าไม้ ซึ่งได้ปลูกไม้ไว้อย่างสมบูรณ์มีเนื่อที่กว่า 4,000-5,000 ไร่ ทั้งยังระบุว่า พื้นที่ส่วนนี้ได้มีการดำเนินการขออนุญาตจากกรมป่าไม้ด้วย โดยระบุว่า มีการขอใบอนุญาตทั้งสิ้น 10 ใบและปัจจุบันนี้ ได้รับการอนุมัติไปแล้วบางส่วน ประมาณ 6-7 ใบ นอกจากนี้แล้ว ทางวัดพระธรรมกายยังพยายามขยายพื้นที่ปฏิบัติธรรมออกมายังบริเวณข้างเคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว กระทั่งได้รับความเดือดร้อน
ภายหลังจากได้รับการร้องเรียน ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบริเวณที่ได้รับการร้องเรียน คือประมาณกิโลเมตรที่ 44 ถนนสายเชียงใหม่-แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พบว่าเป็นที่ตั้งของ "สวนแก้ววนาราม" บริเวณบ้านวังกอง ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ อันเป็นสาขาย่อยของวัดพระธรรมกาย จากการสังเกตการณ์ครั้งนี้ พบว่าวัดแห่งนี้ได้ทำการปิดประตูไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปภายใน ส่วนพื้นที่ภายในนั้นมีอาคารอยู่ 3 อาคาร มีโรงอาหาร 1 แห่ง เป็นอาคารที่ใช้ปฏิบัติธรรม 1 แห่ง แต่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเป็นอาคารที่พักของพระภิกษุสามเณร 1 หลัง ยังมีอาคารที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อีกหลายอาคารโดยพื้นที่บริเวณนี้ มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ส่วนประชากรส่วนใหญ่ ก็เป็นชาวเขาเผ่าแม้วและเผ่ารั๊ว
ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวให้รายละเอียดว่า วัดดังกล่าวนี้มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาประมาณ 12 รูป ไม่มีเจ้าอาวาส ชาวบ้านละแวกดังกล่าว ไม่ค่อยให้ความสนใจกับพระวัดนี้เท่าใดนัก เนื่องจาก ไม่ค่อยเหมือนกับวัด เป็นเพียงแค่สถานที่ปฏิบัติธรรมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริเวณใกล้เคียงกัน ก็จะมีสำนักสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งอาทิ สุขสงบ สงบจิต เป็นต้น และไม่อนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ทางวัดจะอนุญาตให้ประชาชน ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และตัวเมืองเชียงใหม่ หรือจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจเข้ามาปฏิบัติธรรม แต่กลับไม่มีชาวบ้านในละเวกดังกล่าว เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมของวัดแต่อย่างใด
จากการติดต่อสอบถามไปยัง ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่พบว่า พื้นที่ดังกล่าวขออนุญาตใช้พื้นที่ในนนาม มูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมูลนิธินี้ ศึกษาค้นคว้าในเรื่องชีววิทยาและอบรมธรรมะ อย่างไรก็ตาม การดำเนนิการขออนุญาตครั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุว่า จะดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ทางป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ จะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ธ.ค.นี้ เพราะได้มีการย้ายถิ่นฐานหลายครั้ง
นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึง กรณีที่วัดพระธรรมกายถูกร้องเรียนว่า ทำการจัดสร้างสำนักปฏิบัติธรรมบุกรุก พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ว่า ทางกรมป่าไม้ได้สั่งการให้หน่วยงานสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สำนักงานป่าไม้เขต และป่าไม้จังหวัดทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งในเรื่องของการการขออนุญาติ และในส่วนของการจัดสร้างแล้ว ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันจะสามารถสรุปข้อมูลต่างๆได้
อย่างไรก็ตาม หากการตรวจสอบแล้วพบว่า วัดพระธรรมกายสร้างสำนักสงฆ์ในป่า ก็คงต้องมาดูกันว่า กฏหมายป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เปิดช่องให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว เพื่อจัดสร้างสำนักสงฆ์หรือไม่ นอกจากนี้ ถ้าการก่อสร้างที่พักสงฆ์ดังกล่าว เป็นการบุกรุกเข้าไปก่อสร้างเอง ก็ต้องถือว่า วัดกระทำผิดกฏหมาย
แหล่งข่าวกรมป่าไม้แจ้งว่า จำนวนที่พักสงฆ์ที่เข้าไปปลุกสร้างในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทั่วประเทศ โดยผิดกฏหมายจากสำนักงานป่าไม้เขตจำนวน 21 เขต ในพื้นที่ 60 จังหวัดพบว่า มีที่พักสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่ป่าอย่างผิดกฏหมายทั้งสิ้น 4,137 แห่ง แยกเป็นในสงวนแห่งชาติจำนวนทั้งสิ้น 2,484 แห่งแยกเป็นศาสนาสถานในคริสต์ศาสนา 2 แห่งอยู่ในท้องที่จ.ร้อยเอ็ด ที่พักสงฆ์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จำนวน 379 แห่ง ที่พักสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 19 แห่ง ที่พักสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 76 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ป่าตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 16 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีที่พักสงฆ์อีกจำนวน 750 แห่งที่ซึ่งก่อสร้างนอกเขตป่าไม้ประเภทต่างๆ แต่เป็นการบุกรุกพื้นที่เขตราชพัสดุ ที่ดินนิคมสหกรณ์ ที่ดินกรมประชาสงเคราะห์ และที่ดินสาธารณประประโยชน์ ส่วนการจัดการกับปัญหาของวัดที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้นั้น ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะเกี่ยวข้องกับศรัทธาของประชาชนในพื้นที่ หากใช้ความรุนแรงไป ก็อาจถูกประชาชนต่อต้านกล่าวหาว่า กรมป่าไม้รังแกพระ และเป็นผู้ทำลายพุทธศาสนาได้
ส่วนที่รัฐสภา นายอรรถสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคความหวังใหม่ ในฐานะโฆษกคณะกรรมา ธิการการศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯเพื่อพิจารณาญัตติของนายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ กับนายทวีวัฒน์ ฤทธิ์ลือชัย ส.ส.สกลนคร พรรคความหวังใหม่ เรื่องให้ตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆของวัดพระธรรมกายว่า ที่ประชุมมีมติรับญัตติดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นการชักชวนคนเข้าทำบุญที่วัดพระธรรมกาย การสร้างถาวรวัตถุและศาสนวัตถุมาศึกษาพิจารณา ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการจะศึกษาภาพรวมตั้งแต่ต้นว่า วัดมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำบุญหรือไม่
โฆษกคณะกรรมาธิการฯกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องมีความรอบคอบในการศึกษา เพราะมีความเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา และวัดพระธรรมกายมีลูกศิษย์มากมาย การศึกษาครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติ ที่เป็นภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะแต่วัดพระธรรมกายเท่านั้น
"การศึกษาครั้งนี้ จะรวมไปถึงวัดอื่น ๆ ที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ การบิดเบือนบางอย่าง ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมีประโยชน์ต่อศาสนาพุทธหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการมีมติเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเช่นนายอาคม เอ่งฉ้วน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำกับดูแลงานกรมการศาสนา กรมการศาสนามาให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้า และจะเชิญตัวแทนวัดพระธรรมกาย มาชี้แจงข้อเท็จจริงในโอกาสต่อไปด้วย"
ในวันเดียวกัน มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ (ผชป.) ได้ส่งเอกสารร้องเรียนนายชวน หลีกภัย นายกรัฐ มนตรีโดยผ่านทางสื่อมวลชน เรื่องการดำเนินการของวัดพระธรรมกายเกี่ยวกับการก่อสร้างมหาธรรมเจดีย์ และพระธรรมกายประจำตัว โดยสาระสำคัญในเอกสารฉบับดังกล่าวนี้ระบุว่า อยากใ้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เจรจาติดต่อนิมนต์ให้พระวัดพระธรรมกายมาช่วยกันกู้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากว่าวัดได้โฆษณาเรี่ยไรให้ประชาชนมาร่วมทำบุญในการสร้างมหาธรรมเจดีย์ พระธรรมกายประจำตัว ซึ่งมูลค่าโดยเบื้องต้นประเมินแล้วมูลค่ากว่า 10,000-30,000 ล้านบาท
เอกสารชิ้นดังกล่าวระบุในตอนท้ายว่า หวังเป็นอย่างยิ่งนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีจะสามารถเจร จากับทางวัดพระธรรมกายนำเงินบริจาคดังกล่าวมาช่วยวิกฤตเศรษฐกิจของชาติ แทนที่จะนำไปสร้างถาวรวัตถุให้ใหญ่โต
ทางด้าน พล.ต.ต.โยธิน มัธยมนันทน์ รอง ผบช.ส. กล่าวว่า ในอดีตเคยมีบัตรสนเท่ห์แจ้งมาว่า ที่วัดธรรมกายมีการซ่องสุมผู้คน สะสมอาวุธมากมาย ทางตำรวจสันติบาลเข้าไปตรวจสอบ แต่ปรากฎว่า ไม่พบการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว หลังจากนั้น ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ แต่ไม่พบความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด มีเพียงการก่อสร้างและขยายอาณาเขตของวัดออกไป ทำให้เกิดเรื่องขัดแย้งกับเจ้าของพื้นที่ละแวกใกล้เคียง แต่เรื่องราวก็จบลง เพราะมีการเจรจาตกลงกันเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม หากวัดธรรมกายมีพฤติการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล และบุคคลใดที่มีพยานหลักฐานชัดเจน ที่จะชี้เบาะแสให้ทางสันติบาลก็พร้อมเข้าไปดำเนินการตรวจสอบทันที "สถานที่ปฏิบัติธรรมทั้งหลายหากมีเจตนาสร้างไว้ให้อนุชนรุ่นหลังทุกคน ประกอบคุนงามความดี ก็น่าให้การสนับสนุน แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์แฝงในทางมิชอบ หรือมีการชักชวนให้หลงผิด เชื่อในเรื่องปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาตรวจสอบ เพราะถือเป็นการขัดแย้งกับนโยบายเดิม ของวัดที่ต้องปฏิบัติดีทั้งกายและใจเหมือนกับคำว่า "ธรรมกาย" คือการทำกายให้มีธรรมะ ถึงจะเป็นวัตถุประสงค์ของศาสนาพุทธอย่างแท้จริง" รอง ผบช.ส.กล่าว.