news5
สร้างมหาเจดีย์ไม่ตรงคำสอนศาสนา

หลวงพ่อจรัญ ลูกศิษย์หลวงพ่อสดวัดปากนํ้า เผยการสร้างมหาธรรมเจดีย์ ไม่ตรงคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ต้องการให้มนุษย์ประหยัด ยํ้าสร้างใหญ่โตแค่ไหน ก็ไม่ใช่ญาติพระศาสนา นิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ชี้วัตถุประสงค์สร้างธรรมเจดีย์ในศาสนา ต้องการบรรจุพระธรรมคำสั่งสอน กับพระไตรปิฎก ไม่ใช่อย่างแนวคิดวัดพระธรรมกาย ประธานกรรมการก่อสร้าง "อนันต์ อัศวโภคิน" แจงเหตุต้องใหญ่มหึมา หวังรองรับอุบาสกอุบาสิกามาแสวงบุญได้เต็มที่ ยืนยันไม่ใช่เรื่องการอวดศักดา

พระราชสุทธิญาณมงคล หรือ หลวงพ่อจรัญ ฐิทธมฺโม เปิดเผยถึงเรื่องการก่อสร้างของวัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นี้ว่า พระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนให้รู้จักการประหยัด การสร้างโบสถ์สร้างศาลา เป็นการสงเคราะห์อุปถัมภ์บำรุงศาสนา แต่ไม่ใช่ความถูกต้องถ้าถูกต้องจะต้องสงเคราะห์ตัวเองก่อน พระพุทธเจ้าสอนสร้างโบสถ์ศาลาสักกี่ร้อยหลัง ก็ไม่ได้เป็นญาติกับศาสนา ต้องด้วยการบวชเรียนศึกษาพระธรรมวินัยซึ้งกับความดี ถึงจะได้เป็นญาติกับพระศาสนา ซึ้งใจความดีหนึ่งทำให้เราได้คุ้นเคยกับศาสนา ทำให้เราเข้าใจซึ้งใจ ทำให้เราเห็นอกเห็นใจซึ่งกันมีอะไรก็ช่วยเหลือกันได้
พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ผู้อำนวยการ กองปฏิบัติศาสนกิจในประเทศ และผู้ช่วยอธิการ บดีฝ่ายกิจการนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า มีการท้วงติงและพูดมากว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างไปในทางยุโรป ไม่เหมือนกับวัดโดยทั่วไป ทั้งโบสถ์ กุฏิ วิหาร เป็นแบบใหม่
"อาตมาไม่สบายใจเวลาเข้าไปมองไปไม่รู้ว่าเป็นวัด หากไม่เห็นพระสงฆ์อยู่ในบริเวณนั้นทั้งที่ระเบียบของกรมการศาสนาเกี่ยวกับการสร้างกุฏิ ศาสนวัตถุก็มีอยู่ แต่ก็ไม่มีการดูแลกัน"
ปกติการสร้างเจดีย์จะมี 4 ลักษณะ คือ ธาตุเจดีย์ ใช้สำหรับเก็บพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า, บริโภคเจดีย์ใช้เก็บอัฐบริขารของพระพุทธเจ้า, ธรรมเจดีย์ ใช้บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนและพระไตรปิฎก และอุทเทสิกะเจดีย์ใช้สำหรับการอุทิศ โดยการสร้างธรรมกายเจดีย์ก็น่าจะเป็นการอุทิศต่อพระพุทธเจ้า โดยมีพระประธาน ชื่อ พระบรมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสนวัตถุในประเทศ อินโดนีเซีย ส่วนเจดีย์ของวัดธรรมกายก็ผิดแผกไปจากเจดีย์อื่น ๆ โดยในสมัยแรกเจดีย์จะมีรูปโอคว่ำหรือขันคว่ำ ต่อมาเป็นระฆังคว่ำได้รับอิทธิพลจากศรีลังกา และมาเป็นทรงข้าวบิณฑ์ในปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่จะมียอดแหลม
การสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตส่วนหนึ่งก็ทำให้เห็นว่าศาสนาพุทธมีศาสนวัตถุที่ใหญ่โตได้ แต่ต้องมีการดูแลที่ดีพอ และตามหลักพุทธศาสนาจริง ๆ แล้วไม่เน้นวัตถุ แต่เน้นด้านจิตใจมากกว่า
ขณะที่นายเกษมสุข ภมรสถิตย์ นักธุรกิจที่ประกอบการธุรกิจส่งออกสิ่งทอ ซึ่งศรัทธาในแนวทางการเผยแพร่พระธรรม และการบอกบุญก่อสร้างพระธรรมกายประจำตัวของวัดพระธรรมกาย ได้กล่าวในการสัมมนาเรื่องสร้างพระภายในใจสู้ภัยปี 2000 ว่า แนวคิดการสร้างมหาธรรมเจดีย์นั้นเป็นของพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือหลวงพ่อธัมมชโยภิกขุ และศาสนานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายเอง ส่วนสาเหตุที่สร้างเป็นรูปลักษณะจานบินนั้น เนื่องจากต้องการให้มีจุดศูนย์ กลางอันเป็นเครื่องหมายถึงพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางการยึดเหนี่ยวจิตใจ ในขณะที่รูปแบบลักษณะอื่นนั้นไม่สามารถหาจุดศูนย์กลางได้
นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮาส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการจัดสร้างมหาธรรมเจดีย์ เปิด เผยถึงการก่อสร้างว่า เป็นความจำเป็นของวัดที่ต้องสร้างให้ใหญ่โต เนื่องจากต้องรองรับอุบาสกอุบาสิกาจำนวนมากที่มาปฏิบัติธรรมนั่งวิปัสสนากรรมฐานในวัด ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2539 นั้นมีผู้มาปฏิบัติธรรมราว 100,000 คน ในขณะที่ปี 2540 มีกว่า 200,000 คน
นายอนันต์กล่าวว่า ในเรื่องรูปแบบนั้นทางวัดต้องการเพียงให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มาปฏิบัติธรรม และต้องอยู่นานนับพันปี ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเท่าใด เพราะยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 1 ปี จะแล้วเสร็จ
"รูปแบบของการก่อสร้างนั้นไม่ได้มีบทกำหนดไว้ในหลักพุทธศาสนา รูปแบบธรรมเจดีย์จึงออกมาในลักษณะนี้ สร้างขึ้นเพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์ สถาปัตยกรรมจึงเป็นไปตามความนิยมแล้วแต่ความต้องการ อาจจะเป็นสถาปัตยกรรมเหมือนอินเดียก็ได้".